พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข ความสุขแห่งความดับทุกข์ตอนที่ ๓

                      หลังจากที่ต้องหลีกทางให้กับวันสำคัญของโลก คือ วันวิสาขบูชาแล้ว ก็ได้เวลาของพุทธประวัติต่อจากเดิม หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงชนะธิดามารทั้ง ๓ ที่ต้นอชปาลนิโครธแล้ว ก็เสด็จสู่สระมุจลินท์ประทับอยู่ภายในขนดของพญานาคมุจลินท์ ๑ สัปดาห์ หลังจากนั้นเสด็จสู่ต้นราชายตนะประทับอยู่อีกตลอดสัปดาห์  โดยลำดับกาลเพียงเท่านี้ก็ครบ ๗ สัปดาห์บริบูรณ์. ในระหว่างนี้ไม่มีการสรงพระพักตร์ ไม่มีการปฏิบัติพระสรีระ ไม่มีกิจด้วยพระกระยาหาร แต่ทรงยับยั้งอยู่ด้วยฌานสุขและผลสุขเท่านั้น

ต้นราชายตนะ สถานที่เสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๗

 

                       ครั้นในวันที่ ๔๙ อันเป็นที่สุดของ ๗ สัปดาห์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ที่ต้นราชายตนะนั้น เกิดพระดำริขึ้นว่าจักสรงพระพักตร์. ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ทรงนำผลสมออันเป็นยาสมุนไพรมาถวาย. พระศาสดาเสวยผลสมอนั้น ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงได้มีการถ่ายพระบังคนหนัก. ลำดับนั้น  ท้าวสักกะนั่นแลได้ถวายไม้ชำระพระทนต์ ชื่อนาคลดาและน้ำบ้วนพระโอษฐ์ น้ำสรงพระพักตร์แก่พระองค์ พระศาสดาทรงเคี้ยวไม้ชำระพระทนต์นั้น แล้วบ้วนพระโอษฐ์ สรงพระพักตร์ด้วยน้ำจากสระอโนดาต เสร็จแล้วยังคงประทับนั่งอยู่ที่โคนไม้ราชายตนะนั้น นั่นแหละ

                      สมัยนั้น พาณิช ๒ คนชื่อ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ เดินทางจากอุกกลชนบท จะไปยังมัชฌิมประเทศ ด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ผู้อันเทวดา ผู้เป็นญาติสาโลหิตของตนในชาติก่อน กั้นเกวียนไว้ ให้มีความอุตสาหะในการจัดพระกระยาหารถวายแด่พระศาสดา จึงถือเอาข้าวตูก้อนและขนมน้ำผึ้ง (ขนมหวาน) แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงอาศัยความอนุเคราะห์ รับพระกระยาหารของข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด ดังนี้แล้วน้อมถวายพระศาสดาแล้วยืนอยู่. เพราะบาตรได้อันตรธานหายไปในวันรับข้าวปายาส พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงดำริว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับที่มือ เราจะรับที่อะไรหนอ. ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จากทิศทั้ง ๔ รู้พระดำริของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงน้อมถวายบาตรทั้งหลายอันแล้วด้วยเเก้วอินทนิล พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงรับบาตรเหล่านั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงน้อมถวายบาตร ๔ ใบ  อันแล้วด้วยศิลามีสีดังถั่วเขียว เพื่อจะทรงอนุรักษ์ศรัทธาของท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงทรงรับบาตรแม้ทั้ง ๔ ใบ ทรงวางซ้อนๆ กันแล้วทรงอธิษฐานว่า จงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ ใบจึงมีรอยปรากฏอยู่ที่ขอบปาก รวมเข้าเป็นใบเดียวกัน โดยประมาณบาตรขนาดกลาง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับพระกระยาหารที่บาตรอันล้วนด้วยศิลามีค่ามากนั้น เสวยแล้วได้ทรงกระทำอนุโมทนา. พาณิชพี่น้องสองคนนั้นถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ ได้เป็น ทเววาจิกอุบาสก คืออุบาสกผู้กล่าวถึงสรณะสอง. ลำดับนั้น พาณิชทั้งสองคนนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงโปรดประทานฐานะ อันควรที่จะพึงปรนนิบัติแก่ข้าพระองค์ทั้งสองด้วยเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียรของพระองค์ แล้วได้ประทานพระเกศธาตุทั้งหลายให้ไป. พาณิชทั้งสองนั้นบรรจุพระเกศธาตุเหล่านั้นไว้ภายในผอบทองคำ ประดิษฐานพระเจดีย์ไว้ในนครของตน (เป็นที่มาของพระพุทธรูปปางเกษาธาตุ)

วานิช ๒ คน ถวายถวายข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง

 

                            ก็จำเดิมแต่นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับไปยังต้นอชปาลนิโครธอีก แล้วประทับนั่งอยู่ที่ควงต้นนิโครธ. ครั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพอประทับนั่งที่ควงต้นนิโครธนั้นเท่านั้น ทรงพิจารณาถึงความที่ธรรมอันพระองค์ทรงบรรลุแล้วเป็นธรรมลึกซึ้ง ความตรึกอันพระพุทธเจ้าทั้งปวงเคยประพฤติกันมา ถึงอาการคือความไม่ประสงค์จะทรงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น บังเกิดขึ้นว่า ธรรมนี้เราบรรลุได้โดยยากแล.

                             ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทรงดำริว่า ท่านผู้เจริญ โลกจักพินาศหนอ ท่านผู้เจริญ โลกจักพินาศหนอ จึงทรงพาท้าวสักกะ  ท้าวสุยามะ ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมมานรดี ท้าววสวัตดี และท้าวมหาพรหมทั้งหลาย จากหมื่นจักรวาล เสด็จมายังสำนักของพระศาสดา ทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม โดยนัยเป็นต้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงแสดงธรรม

                           ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่

                           ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทราบว่าท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนา และอาศัยความกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ. เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มีมีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำบางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้ บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้นได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มีมีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการเลวก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี.ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวรับท้าวสหัมบดีพรหมด้วยคาถาว่า

                  ดูกรพรหม เราเปิดประตูอมตนิพพานแล้ว เพื่อสัตว์ทั้งหลายผู้มีโสต จงปล่อยศรัทธามาเถิด เราสำคัญว่าจะลำบาก จึงไม่กล่าวธรรมอันคล่องแคล่ว ประณีต ในมนุษย์ทั้งหลาย.

                    ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงเปิดโอกาส เพื่อจะแสดงธรรมแล้ว จึงอภิวาทอาตมภาพ ทำประทักษิณแล้ว หายไปในที่นั้นเอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลกเปรียบได้กับดวกบัวใต้น้ำ ปริ่มน้ำ พ้นน้ำ

 

                      อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมบัวจึงมีเพียง ๓ เหล่า ซึ่งที่จริงแล้ว ในพระบาลีปรากฏเพียงบัว ๓ เหล่านี้ คือ ๑ บัวจมน้ำ ๒ บัวเสมอน้ำ ๓ บัวพ้นน้ำ แต่ในอรรถกถาได้กล่าวเพิ่มบัวเหล่าที่ ๔ คือ บัวมีโรคอยู่ในน้ำซึ่งไม่สามารถเบ่งบานได้ มีแต่จะเป็นอาหารของปลาและเต่า ทั้งนี้เพื่อนำไปเปรียบกับบุคล ๔ เหล่า ซึ่งปรากฏอยู่ในพระบาลีสุตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (เล่ม ๒๑)

                     หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับตามที่ท้าวสหัมบดีพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมแล้ว ใครจะเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมก่อน ได้ฟังธรรมที่ใด ต้องติดตามต่อไป

                    ขออนุโมธนาผู้มีบุญมากทุกท่าน ในการศึกษาพุทธประวัติ

พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข ความสุขแห่งความดับทุกข์ตอนที่ ๒

                   หลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ ๔ สัปดาห์ หลังจากนั้นทรงเสด็จเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ ห่างออกจากต้นโพธิ์ คือที่ ต้นอชปาลนิโครธ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่นี่อย่างไร โปรดติดตามได้

                    สมัยนั้น มารผู้มีบาปคิดว่า เราติดตามอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ แม้จะเพ่งมองหาช่องอยู่ ก็ไม่ได้เห็นความพลั้งพลาดอะไรๆ ของสิทธัตถะนี้ บัดนี้ สิทธัตถะนี้ก้าวล่วงพ้นอำนาจของเราเสียแล้ว จึงถึงความโทมนัสนั่งอยู่ในหนทางใหญ่ เมื่อคิดถึงเหตุ ๑๖ ประการ จึงขีดเส้น ๑๖  เส้น ลงบนแผ่นดิน คือคิดว่า เราไม่ได้บำเพ็ญทานบารมีเหมือนสิทธัตถะนี้ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่เป็นเหมือนสิทธัตถะนี้ ดังนี้ แล้วขีดลงไปเส้นหนึ่ง. อนึ่ง คิดว่า เราไม่ได้บำเพ็ญศีลบารมี ฯลฯ เนกขัมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี เหมือนสิทธัตถะนี้ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่เป็นเหมือนสิทธัตถะนี้ ดังนี้แล้วขีดเส้น (ที่ ๒ ถึงเส้น) ที่ ๑๐.  อนึ่ง คิดว่า เราไม่ได้บำเพ็ญบารมี  ๑๐ อันเป็นอุปนิสัยแก่การแทงตลอดอินทริยปโรปริยัตติญาณอันไม่ทั่วไปแก่คนอื่น เหมือนสิทธัตถะนี้ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ได้เป็นเช่นกับสิทธัตถะนี้ ดังนี้แล้วขีดเส้นที่ ๑๑. อนึ่ง คิดว่า เราไม่ได้บำเพ็ญบารมี ๑๐ อันเป็นอุปนิสัยแก่การแทงตลอดอาสยานุสยญาณ ฯลฯ มหากรุณาสมาปัตติญาณ ยมกปาฏิหาริยญาณ อนาวรณญาณและสัพพัญญุตญานอันไม่ทั่วไปแก่คนอื่น เหมือนดังสิทธัตถะนี้ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่เป็นเช่นกับสิทธัตถะนี้ ดังนี้แล้ว ขีดเส้นที่ ๑๒ ถึงเส้นที่ ๑๖. มารนั่งขีดเส้น ๑๖ เส้นอยู่ที่หนทางใหญ่ เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ ด้วยประการฉะนี้

บารมี ๑๐ ทัศน์ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงชนะพญามาร

 

                   ก็สมัยนั้นธิดาของมาร ๓ นาง คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี คิดว่า บิดาของพวกเราไม่ปรากฏ บัดนี้ อยู่ที่ไหนหนอ จึงพากันมองหา ได้เห็นบิดาผู้มีความโทมนัสนั่งขีดแผ่นดินอยู่ จึงพากันไปยังสำนักของบิดาแล้วถามว่า ท่านพ่อ เพราะเหตุไร ท่านพ่อจึงเป็นทุกข์หม่นหมองใจ. มารกล่าวว่า ลูกเอ๋ย มหาสมณะนี้ ล่วงพ้นอำนาจของเราเสียแล้ว พ่อคอยดูอยู่ตลอดเวลาประมาณเท่านี้ ไม่อาจได้เห็นช่องคือ โทษของมหาสมณะนี้ เพราะเหตุนั้น พ่อจึงเป็นทุกข์หม่นหมองใจ. ธิดามารกล่าวว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านพ่ออย่าเสียใจเลย ลูกๆ จักทำมหาสมณะนั่นไว้ในอำนาจของตนๆ แล้วพามา. มารกล่าวว่า ลูกเอ๋ยมหาสมณะนี้ ใครๆ ไม่อาจทำไว้ในอำนาจได้ บุรุษผู้นี้ตั้งอยู่ในศรัทธาอันไม่หวั่นไหว.  ธิดามารกล่าวว่า ท่านพ่อ พวกลูกชื่อว่าเป็นสตรีลูกๆ จักเอาบ่วงคือราคะเป็นต้น ผูกมหาสมณะนั้น นำมาเดี๋ยวนี้แหละ ท่านพ่ออย่าคิดไปเลย  ครั้นกล่าวแล้วจึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกข้าพระบาทจะบำเรอบาทของพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงใส่ใจถึงคำของพวกนาง ทั้งไม่ทรงลืมพระเนตรแลดู ทรงนั่งเสวยสุขอันเกิดแต่วิเวกอย่างเดียว เพราะทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นเครื่องสิ้นไปแห่งอุปธิอันยอดเยี่ยม

ธิดามาร มายั่วยวนพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้ามิทรงใส่พระทัย

                       ธิดามารคิดกันอีกว่า ความประสงค์ของพวกผู้ชายเอาแน่ไม่ได้ บางพวกมีความรักหญิงเด็กๆ บางพวกรักหญิงผู้อยู่ในปฐมวัย บางพวกรักหญิงผู้อยู่ในมัชฌิมวัย บางพวกรักหญิงผู้อยู่ในปัจฉิมวัย ถ้ากระไร พวกเราควรเอารูปต่างอย่างเข้าไปล่อแล้วยึดเอา จึงนางหนึ่งๆ นิรมิตอัตภาพของตนๆ โดยเป็นรูปหญิงวัยรุ่นเป็นต้น คือเป็นหญิงวัยรุ่น เป็นหญิงยังไม่คลอด เป็นหญิงคลอดคราวเดียว เป็นหญิงคลอดสองคราว เป็นหญิงกลางคน และเป็นหญิงผู้ใหญ่ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ๖ ครั้ง แล้วทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพระบาททั้งหลาย จะบำเรอบาทของพระองค์. แม้ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ทรงใส่พระทัย โดยประการที่ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งอุปธิอันยอดเยี่ยม.

                         พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงหลีกไป พวกเธอเห็นอะไรจึงพยายามอย่างนี้ ควรทำกรรมชื่อเห็นปานนี้ เบื้องหน้าของคนผู้ยังไม่ปราศจากราคะเป็นต้น ก็ตถาคตละราคะ โทสะ โมหะแล้ว จึงทรงปรารภถึงการละกิเลสของพระองค์ ทรงแสดงธรรมตรัสคาถา ๒ คาถา ในพุทธวรรคธรรมบท ดังนี้ว่า

                        ความชนะอันผู้ใดชนะแล้วไม่กลับแพ้ ใครๆ จะนำความชนะของผู้นั้นไปไม่ได้ในโลก ท่านทั้งหลายจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น  ผู้มีอารมณ์ไม่มีที่สุด ผู้ไม่มีร่องรอย ไปด้วยร่องรอยอะไร.             

                        พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ไม่มีตัณหาดุจข่าย ส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ เพื่อจะนำไปในที่ไหน ท่านทั้งหลายจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีอารมณ์ไม่มีที่สุด ผู้ไม่มีร่องรอยไปด้วยร่องรอยอะไร  ดังนี้.

 

                     ธิดามารเหล่านั้นพากันกล่าวคำมีอาทิว่า นัยว่า เป็นความจริง บิดาของพวกเราได้กล่าวไว้ว่า พระอรหันต์สุคตเจ้าในโลก ใครๆ จะนำไปง่ายๆ ด้วยราคะ หาได้ไม่ ดังนี้แล้วพากันกลับมายังสำนักของบิดา

สระมุจลินท์ สถานที่ที่พญานาคมุจลินท์มาขนดปกป้องพรพุทธเจ้าจากห่าฝน

 

                         ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ที่อชปาลนิโครธนั้นนั่นแหละตลอดสัปดาห์ แต่นั้นได้เสด็จไปยังโคนไม้มุจลินท์. ณ ที่นั้น เกิดฝนพรำอยู่ตลอด ๗ วัน เพื่อจะป้องกันความหนาวเป็นต้น พญานาค ชื่อ มุจลินท์ เอาขนดวง ๗ รอบ ทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่เหมือนประทับอยู่ในพระคันธกุฎีอันไม่คับแคบ (เป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก) ทรงยับยั้งอยู่ตลอดสัปดาห์ แล้วเสด็จเข้าไปยังต้นราชายตนะ แม้ ณ ที่นั้นก็ทรงยับยั้งเสวยวิมุตติสุขอยู่ตลอดสัปดาห์

สระมุจลินท์จำลอง ภายในพุทธคยา

 

                  ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเสวยวิมุตติสุขอยู่ที่ต้นราชายตนะ มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นหรือไม่โปรดติดตามต่อไป

                  ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่านในการศึกษาพุทธประวัติ

พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข ความสุขในความดับทุกข์ ตอนที่ ๑

                     หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ได้ชนะพญามารและตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงกระทำสิ่งใดต่อไป ติดตามต่อได้ครับ                  

                     พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งบนชยบัลลังก์ ทรงเปล่งอุทานแล้วได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า เราแล่นไปถึงสี่อสงไขยแสนกัป ก็เพราะเหตุบัลลังก์นี้ เพราะเหตุบัลลังก์นี้แหละ เราได้ตัดศีรษะอันประดับแล้วที่คอให้ไปแล้ว ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ เราควักนัยน์ตาที่หยอดดีแล้ว  และเชือดหทัยให้ไปแล้ว ให้บุตรเช่นกับชาลีกุมาร ให้ธิดาเช่นกับกัณหาชินากุมารีและให้ภริยาเช่นกับพระมัทรีเทวี เพื่อเป็นทาสของคนอื่นๆ บัลลังก์ของเรานี้ เป็นบัลลังก์ชัย เป็นบัลลังก์มั่นคง เมื่อเรานั่งบนบัลลังก์นี้แล้วความดำริเต็มบริบูรณ์ เราจักไม่ออกจากบัลลังก์นี้ก่อน ดังนี้  พระองค์จึงประทับนั่งเข้าสมาบัติหลายแสนโกฏิ ณ บัลลังก์นั้นนั่นแหละตลอด ๗ วัน ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข โดยบัลลังก์เดียวตลอดสัปดาห์. 

พระแท่นวัชรอาสน์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่เสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๑

                      ครั้งนั้น เทวดาบางพวกเกิดความปริวิตกขึ้นว่า แม้วันนี้ พระสิทธัตถะก็ยังมีกิจที่จะต้องทำอยู่เป็นแน่ เพราะยังไม่ละความอาลัยในบัลลังก์ พระศาสดาทรงทราบความปริวิตกของเทวดาทั้งหลาย เพื่อจะทรงระงับความปริวิตกของเทวดาเหล่านั้น จึงทรงเหาะขึ้นสู่เวหาส ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์. จริงอยู่ ปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำที่มหาโพธิมัณฑ์ก็ดี ปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำในสมาคมพระญาติก็ดี ปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำในสมาคมชาวปาตลีบุตรก็ดี ทั้งหมดได้เป็นเช่นกับยมกปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำที่ควงไม้คัณฑามพพฤกษ์. 

                      พระศาสดาครั้นทรงระงับความวิตกของเทวดาทั้งหลาย ด้วยปาฏิหาริย์นี้อย่างนี้แล้ว จึงประทับยืนทางด้านทิศเหนือติดกับทิศตะวันออกเยื้องจากบัลลังก์ไปเล็กน้อย ทรงพระดำริว่า เราแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ที่บัลลังก์นี้หนอ จึงทรงลืมพระเนตรแลดูบัลลังก์และต้นโพธิ์อันเป็นสถานที่บรรลุผลแห่งบารมีทั้งหลาย ที่ทรงบำเพ็ญมาสี่อสงไขยแสนกัป ทรงยับยั้งอยู่ตลอดสัปดาห์. สถานที่นั้นจึงชื่อว่า อนิมิสเจดีย์

อนิมิสเจดีย์ ยามคำคืนประดับไฟสวยงาม สถานที่เสวยวิมุตติสุขแห่งที่ ๒ ทรงประทับยืนทอดพระเนตรต้นโพธิ์และพระบัลลังก์โดยไม่กระพริบพระเนตร

                      ลำดับนั้น พระศาสดาทรงนิรมิตที่จงกรมในระหว่างบัลลังก์กับสถานที่ที่ประทับยืน ทรงจงกรมอยู่บนรัตนจงกรมอันยาวจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก ยับยั้งอยู่ตลอดสัปดาห์ สถานที่นั้นจึงชื่อว่า รัตนจงกรมเจดีย์. 

รัตนจงกรมเจดีย์ ด้านข้างเจดีย์พุทธคยา สถานที่เสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๓

                     ก็ในสัปดาห์ที่ ๔ เทวดาทั้งหลายนิรมิตเรือนแก้วทางด้านทิศพายัพ จากต้นโพธิ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้วนั้น  ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎก และพระสมันตปัฏฐานอนันตนัยในพระอภิธรรมปิฏกนั่นโดยพิเศษ ทรงยับยั้งอยู่ตลอดสัปดาห์. ส่วนนักอภิธรรมทั้งหลายกล่าวว่า ที่ชื่อว่าเรือนแก้ว ไม่ใช่เรือนที่ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ แต่สถานที่ที่ทรงพิจารณาปกรณ์ทั้ง ๗ เรียกว่าเรือนแก้ว. แต่เพราะเหตุที่ท่านประยุกต์เรื่องทั้งสองนั้นเข้าไว้ในที่นี้โดยปริยาย เพราะฉะนั้น ควรถือเอาทั้งสองเรื่องนั้นนั่นแหละ ก็จำเดิมแต่นั้นมา สถานที่นั้นจึงชื่อว่า รัตนฆรเจดีย์

รัตนฆรเจดีย์ สถานที่เสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๔ ทรงพิจารณาอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์

                          พระศาสดาทรงยับยั้งอยู่ ๔ สัปดาห์เฉพาะบริเวณใกล้ต้นโพธิ์เท่านั้นด้วยประการอย่างนี้ ในสัปดาห์ที่ ๕ เสด็จจากควงไม้โพธิ์ไปยังไม้อชปาลนิโครธ ประทับนั่งพิจารณาพระธรรมและเสวยวิมุตติสุข ณ ต้นอชปาลนิโครธแม้นั้น

                          ณ ต้นอชปาลนิโครธ ที่เสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ นั้นได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อธิดามารมาทำหน้าที่แทนพญามารบิดา จะเกิดเหตุอันใดขึ้น ต้องติดตามต่อไปในตอนที่ ๒

                          ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่านในการศึกษาพุทธประวัติ