ทุพภิกขภัยที่เวสาลี

กรุงเวสาลีนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติก็มั่นคงไพบูลย์. ด้วยว่า ในกรุงเวสาลีนั้นมีเจ้าอยู่ถึง ๗,๗๐๗ พระองค์. พระยุพราชเสนาบดีและภัณฑาคาริกเป็นต้นก็เหมือนกัน เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า

สมัยนั้นแล กรุงเวสาลีมั่นคงเจริญ มีคนมาก มีคนเกลื่อนกล่น มีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ.

สมัยต่อมา กรุงเวสาลีนั้นเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวกล้าตายนึ่ง. คนยากคนจนตายก่อน เขาทิ้งคนเหล่านั้นไปนอกนคร. พวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตายก็พากันเข้าพระนคร. แต่นั้น ผู้คนก็ตายเพิ่มมากขึ้น. เพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรคก็เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย. ชาวกรุงเวสาลีถูกภัย ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขภัย อมนุสสภัย และโรคภัยเบียดเบียน ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ เกิดภัย ๓ อย่างในพระนครนี้แล้ว พระเจ้าข้า แต่ก่อนนี้ นับได้ ๗ ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชรอยพระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม บัดนี้ ภัยนั้นจึงเกิดขึ้น. พระราชาทรงประชุมเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ในที่ว่าราชการตรัสว่า ขอได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อที่เราไม่ตั้งอยู่ในธรรมเถิด. เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น พิจารณาทบทวนถึงประเพณีทุกอย่าง ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไร ๆ แต่นั้น ก็ไม่เห็นโทษขององค์พระราชา จึงพากันคิดว่า ภัยนี้ของเรา จะระงับไปได้อย่างไร. ในที่ประชุมนั้น เจ้าลิจฉวีบางพวก อ้างถึงศาสดาทั้ง ๖ ว่า พอศาสดาเหล่านี้ย่างเท้าลงเท่านั้น ภัยก็จะระงับไป. บางพวกตรัสว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พอพระองค์ย่างพระบาทลงเท่านั้น ภัยทุกอย่าง ก็จะระงับไป. ด้วยเหตุนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น จึงดีพระทัยตรัสว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่ที่ไหนเล่า พวกเราส่งคนไปเชิญจะไม่เสด็จมาน่ะสิ. เจ้าลิจฉวีอีกพวกหนึ่งตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้า ทรงเอ็นดูสัตว์ เหตุไร จะไม่เสด็จมาเล่า. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอุปฐากอยู่ เกรงท้าวเธอจะไม่ให้เสด็จมา. ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงเข้าพระทัยแล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา แล้วทรงมอบเครื่องบรรณาการเป็นอันมากส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์ พร้อมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร โดยสั่งว่า ขอท่านทูลพระเจ้าพิมพิสารให้เข้าพระทัยแล้ว นำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา เจ้าลิจฉวีทั้งสองพระองค์เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วแจ้งให้ทรงทราบเรื่องราวแล้วทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังนครของข้าพระองค์ด้วยเถิด. พระราชาไม่ทรงรับรองตรัสว่า พวกท่านทรงรู้เอาเองเถิด. เจ้าลิจฉวีก็ทูลรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภัย ๓ อย่าง เกิดขึ้นในนครของข้าพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงเสด็จมาไซร้ ความสวัสดีก็จะพึงมีแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่าเมื่อตรัสรัตนสูตรในกรุงเวสาลี การอารักขาจักแผ่ไปแสนโกฏิจักรวาล จบสูตร สัตว์ ๘๔,๐๐๐ จักตรัสรู้ธรรม แล้วจึงทรงรับนิมนต์. ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว โปรดให้โฆษณาไปในพระนครว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์เสด็จไปกรุงเวสาลีแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรับจะเสด็จไปกรุงเวสาลีหรือพระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร. ท้าวเธอทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นโปรดทรงรอจนกว่าจะจัดแจงหนทางถวายนะ พระเจ้าข้า.

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำพื้นที่ ๕ โยชน์   ระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้ราบเรียบแล้ว ให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาที่จะเสด็จไป พระผู้มีพระภาคเจ้า อันภิกษุ ๕๐๐ รูป แวดล้อมแล้วเสด็จไป พระราชาทรงเอาดอกไม้ ๕ สีโปรยหนทาง ๕ โยชน์เพียงหัวเข่า ให้ยกธงผ้า หม้อน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า   ฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ทรงทำการบูชาด้วยดอกไม้ และของหอมเป็นต้น พร้อมด้วยราชบริพารของพระองค์ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในวิหารหลังหนึ่ง ๆ ถวายมหาทาน ทรงนำเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ๕ วัน . ณ ที่นี้ ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว   ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทางถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นตกลงกันว่า จะทำการบูชาเป็นสองเท่า ทำพื้นที่ ๓ โยชน์ระหว่างกรุงเวสาลี และแม่น้ำคงคาให้เรียบร้อย จัดเศวตฉัตร ๔ ชั้น สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ๆ ละ ๒ ชั้น ทำการบูชา เสด็จมาคอยอยู่.

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำเรือขนาน ๒ ลำแล้วสร้างมณฑปประดับด้วยพวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น. ทีนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น. แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ลงน้ำประมาณแต่พระศอกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ.

เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ ได้พากันทำการบูชา. นาคราชทั้งหลาย มีกัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชา. ด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคาสิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลี.

ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ทำการบูชาเป็น ๒ เท่าที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทำการบูชา ออกไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในน้ำประมาณแค่พระศอ. ขณะนั้นเอง ครู่นั้นเอง มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืดมีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไปส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศ. ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้นเท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน.

พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุก ๆ หนึ่งโยชน์ในระหว่างทางถวายมหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพ อันหมู่เทพห้อมล้อมก็เสด็จมาถึง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับยืนใกล้ประตูพระนครทรงเรียกท่านพระอานนท์มาสั่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ ถือเครื่องประกอบพลีกรรม เที่ยวเดินไประหว่างปราการ ๓ ชั้นแห่งกรุงเวสาลีกับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตร แล้วได้ตรัสรัตนสูตร.

การวิสัชนาปัญหาเหล่านี้ว่า ก็พระสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวที่ใดและกล่าวเพราะเหตุใด ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลาย พรรณนาไว้พิสดาร ตั้งแต่เรื่องกรุงเวสาลีเป็นต้นไป ด้วยประการฉะนี้.

ดังนั้น ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลีนั่นเอง รัตนสูตรนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใกล้ประตูกรุงเวสาลี เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้น ท่านพระอานนท์ก็เรียนเอา เมื่อจะกล่าวเพื่อเป็นปริตร   [ป้องกันอุปัทวะ] จึงเอาบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำมา เดินประพรมไปทั่วพระนคร. พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือน เป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔. ประตูทั้งหลาย ก็ไม่มีที่ว่าง   อมนุษย์บางพวก   เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็ทลายกำแพงเมืองหนีไป. พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลาย ก็พากันออกมาบูชาพระเถระ ด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้นทุกอย่าง มหาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลางพระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้. ทั้งภิกษุสงฆ์ คณะเจ้า และมนุษย์ทั้งหลายก็นั่ง ณ อาสนะที่เหมาะที่ควร. แม้ท้าวสักกะ จอมทวยเทพก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัท ในเทวโลกทั้งสอง ทั้งเทวดาอื่น ๆ ด้วย. แม้ท่านพระอานนทเถระ ก็เที่ยวเดินไปทั่วกรุงเวสาลี ทำอารักขาแล้ว ก็มาพร้อมกับชาวกรุงเวสาลี นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ณที่นั้น   พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสรัตนสูตรนั้นแหละแก่ทุกคนแล.

ก็มาติกา หัวข้อใด ข้าพเจ้าตั้งไว้ว่า   ข้าพเจ้าจักประกาศนัยนี้ว่ารัตนสูตรนี้ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด   กล่าวที่ใด และกล่าวเพราะเหตุใด มาติกานั้นเป็นอันข้าพเจ้ากล่าวไว้พิสดารแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยถ้อยคำมีประมาณเท่านี้.

เรื่องราวทุพภิกขภัยในกรุงเวสาลีก็จบลง

ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

อสงไขย นานขนาดไหน

                  กลับมาอีกครั้ง หลังหายไปนาน เนื่องจากไม่รู้จะเขียนเรื่องอะไรดี คิดไปคิดมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าอสงไขยมาบ้าง เช่น หลังจากสุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว จะใช้เวลาอีก 4 อสงไขย กับเศษอีกแสนกัป จะได้บรรลุพระสัมมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว 4 อสงไขย กับแสนกัป มันนานขนาดไหนละเนี่ย

                   ในบรรดาวิธีการนับในโลกนี้ ที่รู้กันโดยทั่วไป คือ หนึ่ง เป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน เป็นสิบล้าน เป็นร้อยล้าน เป็นพันล้าน เป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน เป็นล้านล้าน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่รู้จะนับอย่างไรต่อ หน่วยวัดที่มากที่สุดที่โลกใช้กันคือ ปีแสง (มากกว่านี้ก็มี เช่น Tredecillion Vigintillion แต่ไม่มีการใช้โดยทั่วไป ไม่มีกำหนดว่าใช้นับอะไร) ซึ่ง 1 ปีแสง คือระยะทาง 9,460,730,472,580.8 กิโลเมตร แต่ล้านล้านปีแสงก็ยังไม่ได้เสี้ยวของอสงไขย แล้วอสงไขยหนึ่งมันนานขนาดไหน

                  จำนวนปีที่มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้นมากมายเหลือที่จะนับกันธรรมดา ในทางพุทธศาสนาจึงต้องมีหน่วยนับที่พิเศษที่จะให้เข้าใจตรงกัน ถึงความยาวนาน ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถา เล่มที่ 70 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน ภาค๑ ดังนี้

                  “บารมี ๑๐ ถ้วนนั่นเอง จัดเป็นบารมี ๓๐ ถ้วน ด้วยอำนาจบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ โดยเป็นอย่างต่ำ อย่างกลางและอย่างสูง. ผู้บริบูรณ์ดี คือผู้สมบูรณ์ ประกอบ พร้อมพรั่ง บรรลุประกอบพร้อมด้วยบารมี ๓๐ ถ้วนนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยบารมี ๓๐ ถ้วน. ชื่อว่า ราชา เพราะยังหมู่สัตว์ผู้อยู่ในสกลโลกทั้ง ๓ และกายของตนให้ยินดี คือให้ยึดติดด้วยพรหมวิหารสมาบัติ ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือด้วยความเป็นผู้มีจิตเป็นอันเดียวด้วยธรรมเครื่องอยู่แห่งผลสมาบัติ, พระราชาโดยธรรม ชื่อว่าพระธรรมราชา, พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างนี้. อธิบายว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาที่ล่วงไปแล้ว คือ จากไปแล้ว ดับแล้ว ถึงการตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว มีจำนวนนับไม่ได้ คือเว้นจากการนับ ด้วยอำนาจจำนวน สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ ปโกฏิ โกฏิปโกฏิ นหุต นินนหุต อักโขภินี พินทุ อัพพุทะ นิรัพพุทะ อหหะ อพพะ อฏฏะ โสคันธิกะ อุปปละ กุมุทะ ปุณฑริกะ ปทุมะ กถานะ มหากถานะ และอสังเขยยะ

                  จะเป็นว่าอสังเขยยะ หรืออสงไขยเป็นปริมาณที่มหาศาลมาก แล้วจริงๆ คือเท่าไร คำตอบคือ

                   หนึ่งอสงไขย เท่ากับ 10140  (คือ เขียนเลข 1 แล้วเติมศูนย์ไปอีก 140 ตัว) ดังตามตารางนี้

หน่วยนับจำนวนในพระไตรปิฎก 

ร้อยแสน

เป็น

โกฏิ
ร้อยแสน โกฏิ

เป็น

ปโกฏิ
ร้อยแสน ปโกฏิ

เป็น

โกฏิปโกฏิ
ร้อยแสน โกฏิปโกฏิ

เป็น

นหุต
ร้อยแสน นหุต

เป็น

นินนหุต
ร้อยแสน นินนหุต

เป็น

อักโขภินี
ร้อยแสน อักโขภินี

เป็น

พินทุ
ร้อยแสน พินทุ

เป็น

อัพภุทะ
ร้อยแสน อัพภุทะ

เป็น

นิรพุทะ
ร้อยแสน นิรพุทะ

เป็น

อหหะ
ร้อยแสน อหหะ

เป็น

อพพะ
ร้อยแสน อพพะ

เป็น

อฏฏะ
ร้อยแสน อฏฏะ

เป็น

โสคันธิกะ
ร้อยแสน โสคันธิกะ

เป็น

อุปละ
ร้อยแสน อุปละ

เป็น

กมุทะ
ร้อยแสน กมุทะ

เป็น

ปทุมะ
ร้อยแสน ปทุมะ

เป็น

ปุณฑริกะ
ร้อยแสน ปุณฑริกะ

เป็น

อกถานะ
ร้อยแสน อกถานะ

เป็น

มหากถานะ
ร้อยแสน มหากถานะ

เป็น

หนึ่งอสงไขย
 
                       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญเพียร เป็นเวลาอย่างน้อย 20 อสงไขย กับเศษอีกแสนกัป (ประเภทปัญญาธิกะ) ก็คือต้องบำเพ็ญเพียรเป็นเวลา 20 x 10140  ปี กับเศษอีกแสนกัป แล้วหนึ่งกัปนานขนาดไหน

กัป (กัลป์), ระยะเวลา

            กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬ  ประลัยครั้งหนึ่ง   (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม)   พระอรรถกถาจารย์ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ (ประมาณ ๑๖ ก.ม.) ทุก ๑๐๐ ปี มีเทวดานำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง  จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป   ถือว่าเป็นกัปหนึ่ง

            อายุของกัปมี ๒ แบบ คือ

            ๑. กำหนดอายุของโลก  ซึ่งอุปมามีอายุยาวนานดังความข้างต้น

            ๒. กำหนดอายุของมนุษย์ในยุคนั้นๆ เรียกเต็มว่า อายุกัป เช่นว่า

            ในสมัยพุทธกาล  พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงคุณของอิทธิบาท ๔ ให้พระอานนท์ทราบว่า  ผู้เจริญอิทธิบาท ๔ แล้วจะดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัปก็ได้   แต่สิ่งที่พุทธองค์ได้ทรงตรัสนั้นหมายถึงอายุกัปของมนุษย์  ไม่ได้หมายถึงอายุของโลก  อายุกัปของคนยุคนี้  ประมาณ ๘๐-๑๒๐ ปี หากจะเกินก็ไม่เกิน ๑๕๐ ปี

              หวังว่าทั้งหมดนี้คงจะทำให้หลายคนพอเข้าใจว่าอสงไขยมากขนาดไหน กัปยาวนานอย่างไร หากมีคำถาม ข้อสงสัยใด สามารถเขียนความเห็นไว้ได้

               ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

เรื่องของบุญ ให้กันได้

              กลับมาอีกครั้ง หลายคนอาจจะเคยเห็นคนทำบุญแล้วมีคนมาอนุโมธนา หรือบางครั้งบ้างที่มีแม้แต่การแบ่งบุญ บางคนอาจสงสัย บุญไม่ใช่สิ่งของ ใครทำใครได้ แล้วจะมาเที่ยวให้คนอื่นๆได้อย่างไร การที่มีคนเอาบุญมาใหเรา เราจะได้บุญจริงหรือ วันนี้เลยมีเรื่องราวของท่านพระอนุรุทธเถระมาฝาก ครั้งหนึ่งในอดีตท่านเคยเกิดเป็นบุรุษเข็ญใจ ชื่อนายอันนภาระ เรื่องราวมีดังนี้

                เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น.พระอนุรุทธเถระถือปฏิสนธิในเรือนของตระกูลเข็ญใจ เป็นคนหาบหญ้า อาศัยสุมนเศรษฐีอยู่ เขาได้มีชื่อว่า อันนภาระ.   ฝ่ายสุมนเศรษฐีนั้น ให้มหาทานที่ประตูบ้าน แก่คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจก.  ทุกวันๆ

                  ภายหลัง ณ วันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า   นามว่าอุปริฏฐะ เข้านิโรธสมาบัติ  ที่ภูเขาคันธมาทน์  ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว พิจารณาว่า วันนี้ ควรจะทำการอนุเคราะห์ใคร.  ก็ธรรมดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้อนุเคราะห์คนเข็ญใจ   ท่านคิดว่าวันนี้เราควรทำการอนุเคราะห์ นายอันนภาระ ทราบว่า นายอันนภาระจักออกจากดงมายังบ้านตน   จึงถือบาตรและจีวรจากภูเขาคันธมาทน์  เหาะขึ้นสู่เวหาสมาปรากฏเฉพาะหน้านายอันนภาระที่ประตูบ้านนั่นเอง.  นายอันนภาระ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ถือบาตรเปล่าจึงอภิวาทพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วถามว่า ท่านได้ภิกษาบ้างไหมขอรับ.  พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า  จักได้ผู้มีบุญมาก. เขากล่าวว่า โปรดรออยู่ที่นี้ก่อนเถิดขอรับ แล้วรีบไป ถามแม่บ้านในเรือนของตนว่า นางผู้เจริญ ภัตอันเป็นส่วนเก็บไว้เพื่อเรา มีหรือไม่. นางตอบว่า มี จ้ะนาย. เขาไปจากที่นั้นรับบาตรจากมือพระปัจเจกพุทธเจ้ามากล่าวว่า นางผู้เจริญ เพราะค่าที่ไม่ได้ทำกัลยาณกรรมไว้ในชาติก่อน เราทั้ง ๒ จึงหวังได้อยู่แต่การรับจ้าง เมื่อความปรารถนาจะให้ของพวกเรามีอยู่ แต่ไทยธรรมไม่มี เมื่อไทยธรรมมีก็ไม่ได้ปฏิคาหก วันนี้เราพบพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าเข้าพอดี และภัตอันเป็นส่วนแบ่งก็มีอยู่   เจ้าจงใส่ภัตที่เป็นส่วนของฉันลงในบาตรนี้. หญิงผู้ฉลาดคิดว่า เมื่อใดสามีของเราให้ภัตซึ่งเป็นส่วนแบ่ง เมื่อนั้นแม้เราก็พึงมีส่วนในทานนี้ จึงวางแม้ภัตอันเป็นส่วนของตนลงในบาตรถวายแก่พระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้า. นายอันนภาระ  นำบาตรอันบรรจุภัตมาวางในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า ขอให้พวกข้าพเจ้าพ้นจากความอยู่อย่างลำบากเห็นปานนี้เถิดขอรับ.   พระปัจเจกพุทธเจ้า อนุโมทนาว่า จงสำเร็จอย่างนั้นเถิดผู้มีบุญมาก.  เขาลาดผ้าห่มของตนลง ณ ที่ส่วนหนึ่งแล้วกล่าวว่า ขอจงนั่งฉันที่นี้เถิด ขอรับ. พระปัจเจกพุทธเจ้านั่ง ณ อาสนะนั้นแล้ว พิจารณาความเป็นของปฏิกูล ๙ อย่าง แล้วจึงฉัน

                  เมื่อฉันเสร็จแล้ว นายอันนภาระจึงถวายน้ำสำหรับล้างบาตร พระปัจเจกพุทธเจ้า เสร็จภัตกิจแล้วกระทำอนุโมทนาว่า สิ่งที่ท่านต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงสำเร็จพลันเทียว ความดำริจงเต็มหมดเหมือนพระจันทร์เพ็ญ   ๑๕   ค่ำฉะนั้น สิ่งที่ท่านต้องการแล้วปรารถนาแล้ว จงสำเร็จพลันเทียว ความดำริจงเต็มหมด เหมือนมณีมีประกายโชติช่วง ฉะนั้น. แล้วออกเดินทางไป.

                   เทวดาที่สิงอยู่ที่ฉัตรของสุมนเศรษฐีกล่าวว่า น่าอัศจรรย์ทานที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า อุปริฏฐะเป็นทานอย่างยิ่งถึง ๓ ครั้ง แล้วได้ให้สาธุการ สุมนเศรษฐีกล่าวว่า ท่านไม่เห็นเราให้ทานอยู่ตลอดเวลามีประมาณเท่านี้ดอกหรือ  เทวดากล่าวว่า เราไม่ให้สาธุการในทานของท่าน เราเลื่อมใสในบิณฑบาตที่นายอันนภาระถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ จึงให้สาธุการ สุมนเศรษฐีดำริว่า เรื่องนี้น่าอัศจรรย์หนอ เราให้ทานตลอดเวลามีประมาณเท่านี้ ก็ไม่อาจทำให้เทวดาให้สาธุการ นายอันนภาระนี้อาศัยเราอยู่  ด้วยการถวายบิณฑบาตครั้งเดียวเท่านั้นทำให้เทวดาให้สาธุการได้    เพราะได้บุคคลผู้เป็นปฏิคาหกที่สมควรเราให้สิ่งที่สมควรแก่นายอันนภาระนั้น แล้วทำบิณฑบาตนั้นให้เป็นของของเราจึงจะควร   ดังนี้   เรียกนายอันนภาระมาแล้วถามว่าวันนี้เจ้าให้ทานอะไร ๆ แก่ใครหรือ ขอรับนายท่าน ข้าพเจ้าถวายภัตรที่เป็นส่วนของข้าพเจ้าแก่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ เศรษฐีกล่าวว่า เอาเถอะเจ้า เธอจงรับกหาปณะไปแล้วให้บิณฑบาตนั้นแก่เราเถอะ ให้ไม่ได้หรอกนายท่าน เศรษฐีเพิ่มทรัพย์ขึ้นจนถึงพันกหาปณะ  นายอันนภาระก็ยังกล่าวว่า  แม้ถึงพันกหาปณะก็ยังให้ไม่ได้ เศรษฐีกล่าวว่า  ช่างเถอะเจ้า  หากเจ้าไม่ให้บิณฑบาต ก็จงรับทรัพย์พันกหาปณะไปแล้วจึงให้ส่วนบุญแก่ฉันเถอะ นายอันภาระกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าแม้ส่วนบุญนั้น  ควรให้หรือไม่ควรให้แต่ข้าพเจ้าจะถามพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะดู  ถ้าควรให้ก็จักให้ ถ้าไม่ควรให้ก็จักไม่ให้

              นายอันนภาระเดินไปทันพระปัจเจกพุทธเจ้า ถามว่า ท่านเจ้าข้า สุมนเศรษฐีให้ทรัพย์แก่ข้าพเจ้าพันหนึ่ง ขอส่วนบุญในบิณฑบาตที่ถวายแก่ท่าน ข้าพเจ้าควรจะให้หรือไม่ให้

               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า บัณฑิต   เราจักทำอุปมาแก่ท่าน เหมือนอย่างว่า ในบ้านตำบลนี้มีร้อยตระกูล  เราจุดประทีปไว้ในเรือนหลังหนึ่งเท่านั้น   ตระกูลพวกนี้เอาน้ำมันเติมให้ใส้ตะเกียงชุ่มแล้วมาต่อไฟถือไป แสงของประทีปดวงเดิมยังมีอยู่หรือหาไม่

                นายอันนภาระกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า แสงประทีปก็สว่างขึ้นไปอีกเจ้าข้า

                ข้อนี้อุปมาฉันใด ดูก่อนบัณฑิต ข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือข้าวสวยทัพพีหนึ่งจงยกไว้  เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่คนเหล่าอื่นในบิณฑบาตของตน พันคนหรือแสนคนก็ตาม ให้แก่คนเท่าใด บุญก็เพิ่มขึ้นแก่ตนมีประมาณเท่านั้น เมื่อท่านให้ก็ให้บิณฑบาตอันเดียวนั่นแหละ ต่อเมื่อให้ส่วนบุญแก่สุมนเศรษฐีอีกเล่า บิณฑบาตก็ขยายไปเป็น ๒ คือของท่านส่วนหนึ่ง ของเศรษฐีส่วนหนึ่ง

                 ดังนี้นายอันนภาระกราบพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกลับไปยังสำนักของสุมนเศรษฐีกล่าวว่า ขอท่านจงรับส่วนบุญในบิณฑบาตทานเถิด นายท่าน เศรษฐีกล่าวว่า เชิญท่านรับทรัพย์พันกหาปณะไปเถิด นายอันนภาระกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ขายบิณฑบาตทาน แต่ข้าพเจ้าให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา เศรษฐีกล่าวว่า พ่ออันนภาระ พ่อให้ส่วนบุญแก่เราด้วยศรัทธา แต่เราบูชาคุณของพ่อ ฉันให้พันกหาปณะนี้ จงรับไปเถอะพ่ออันนภาระ นายอันนภาระกล่าวว่า จงเป็นอย่างนั้น จึงถือเอาทรัพย์พันกหาปณะไป   เศรษฐีกล่าวว่า   พ่ออันนภาระ ตั้งแต่พอได้ทรัพย์พันกหาปณะแล้ว ไม่ต้องทำกิจเกี่ยวแก่กรรมกรด้วยมือของตน จงปลูกเรือนอยู่ใกล้ถนนเถิด ถ้าพ่อต้องการสิ่งใด ฉันจะมอบสิ่งนั้นให้ พ่อจงมานำเอาไปเถอะ

                  ธรรมดาบิณฑบาตที่บุคคลถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า  ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ย่อมให้ผลในวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นสุมนเศรษฐีในวันอื่นแม้ไปสู่ราชตระกูล  ไม่เคยชวนนายอันนภาระไปด้วย แต่ในวันนั้นได้ชวนไปด้วย เพราะอาศัยบุญของนายอันนภาระ   พระราชาไม่มองดูเศรษฐีเลย   ทรงมองแต่นายอันนภาระเท่านั้น เศรษฐีจึงทูลถามว่า เทวข้าแต่สมมติเทพ เหตุไฉนพระองค์จึงทรงมองดูแต่บุรุษผู้นี้ยิ่งนักพระเจ้าค่ะ พระราชาตรัสว่า เรามองดูเพราะไม่เคยเฝ้าในวันอื่น ๆ  เศรษฐีทูลว่า เทวเขาสมควรมองดูอย่างไร   คุณที่ควรมองดูของเขาคืออะไร   เพราะวันนี้เขาไม่บริโภคภัตรที่เป็นส่วนของตนด้วยตนเอง    แต่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ เขาได้ทรัพย์พันกหาปณะจากมือของข้าพระองค์พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า เขาชื่อไร ชื่อนายอันนภาระพระเจ้าข้า เพราะได้จากมือของท่าน ก็ควรจะได้จากมือของเราบ้าง เราเองก็จักทำการบูชาเขา จึงพระราชทานทรัพย์พันกหาปณะแล้วตรัสว่า พนาย จงสำรวจดูเรือนที่คนนี้จะอยู่ได้ ราชบุรุษทูลว่า พระเจ้าข้า  ราชบุรุษทั้งหลายจัดแจงแผ้วถางที่สำหรับเรือนนั้นได้พบขุมทรัพย์ชื่อปิงคละ ในที่ๆ จอบกระทบแล้วๆ ตั้งเรียงกัน  จึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ

                 พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นจงไปขุดขึ้นมา เมื่อราชบุรุษเหล่านั้นขุดอยู่ ขุมทรัพย์ก็จมลงไป ราชบุรุษเหล่านั้นไปกราบทูลพระราชาอีก พระราชาตรัสว่า จงไปขุดตามคำของนายอันนภาระ  ราชบุรุษก็ไปขุดตามคำสั่ง ขุมทรัพย์เหมือนดอกเห็ดตูมๆ ผุดขึ้นในที่ๆ จอบกระทบแล้ว ราชบุรุษเหล่านั้นขนทรัพย์มากองไว้ในพระราชสำนัก  พระราชาประชุมอำมาตย์ทั้งหลายแล้วตรัสถามว่า ในเมืองนี้ ใครมีทรัพย์มีประมาณถึงเท่านี้ไหม อำมาตย์ทูลว่า ไม่มีของใครพระเจ้าข้า ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น นายอันนภาระนี้จงชื่อว่า  ธนเศรษฐีในพระนครนี้ เขาได้ฉัตรประจำตำแหน่งเศรษฐีในวันนั้นนั่นเอง.

                  ตั้งแต่วันนั้น   เขากระทำแต่กรรมอันดีงามจนตลอดชีวิต จุติจากภพนั้นไปเกิดในเทวโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์เป็นเวลานาน ครั้งที่พระศาสดาของพวกเราทรงอุบัติ ก็มาถือปฏิสนธิในนิเวศน์เจ้าศากยะพระนามว่า อมิโตทนะ กรุงกบิลพัสดุ์ ในวันขนานนาม ผู้คนทั้งหลายตั้งชื่อเขาว่า เจ้าอนุรุทธ

                  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวในอดีตของพระอนุรุทธเถระ ซึ่งพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าได้ยืนยันว่าบุญสามารถแบ่งให้กันได้ดั่งการตามประทีปโคมไฟ ดังนั้นต่อไปนี้หากมีใครมีไปทำบุญมา แล้วเอาบุญมาฝาก อย่ามัวแต่สงสัยหัวเราะ รีบอนุโมธนาสาธุการ จะยังผลให้เรามีส่วนในบุญนั้นด้วย

                  ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

พระพุทธเจ้าเปิดโลก

                  กลับมาพบกันอีกครั้งหลังหายไปนาน จากปัญหาน้ำท่วมและภาระอื่นๆ ติดตามกันต่อเลย

พระพุทธองค์ทรงเปิดโลก

                  พระเถระทูลว่า  “ดีละ  พระเจ้าข้า”  แล้วได้บอกตามรับสั่ง.

                  พระศาสดาเสด็จจำพรรษาปวารณาแล้ว  ตรัสบอกแก่ท้าวสักกะว่า  “มหาบพิตร  อาตมภาพจักไปสู่ถิ่นของมนุษย์.”  ท้าวสักกะทรงนิรมิตบันได ๓ ชนิด  คือบันไดทองคำ  บันไดแก้วมณี  บันไดเงิน.  เชิงบันไดเหล่านั้นตั้งอยู่แล้วที่ประตูสังกัสสนคร,  หัวบันไดเหล่านั้น  ตั้งอยู่แล้วที่ยอดเขาสิเนรุ.  ในบันไดเหล่านั้น  บันไดทอง  ได้มีในข้างเบื้องขวา  เพื่อพวกเทวดา,  บันไดเงิน  ได้มีในข้างเบื้องซ้าย  เพื่อมหาพรหมทั้งหลาย, บันไดแก้วมณีได้มีในท่ามกลาง  เพื่อพระตถาคต.  พระศาสดาประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ.  ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก  ทรงแลดูข้างบนแล้ว,  สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูแล้วทั้งหลาย  ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก;  ทรงแลดูข้างล่าง.  สถานที่อันพระองค์ทรงแลดูแล้ว  ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนถึงอเวจี;  ทรงแลดูทิศใหญ่และทิศเฉียงทั้งหลาย,  จักรวาลหลายแสน  ได้มีเนินเป็นอันเดียวกัน; เทวดาเห็นพวกมนุษย์,  แม้พวกมนุษย์ก็เห็นพวกเทวดา. พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหมด  ต่างเห็นกันแล้วเฉพาะหน้าทีเดียว.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีไปแล้ว.  มนุษย์ในบริษัทซึ่งมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์แม้คนหนึ่ง  เมื่อแลดูสิริของพระพุทธเจ้าในวันนั้นแล้ว  ชื่อว่าไม่ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า  มิได้มีเลย.  พวกเทวดาลงทางบันไดทอง,  พวกมหาพรหมลงทางบันไดเงิน;  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เสด็จลงทางบันไดแก้วมณี.  เทพบุตรนักฟ้อนชื่อปัญจสิขะ  ถือพิณสีเหลืองดุจผลมะตูมยืนอยู่ ณ ข้างเบื้องขวา  ทำบูชาด้วยการฟ้อนแด่พระศาสดาลงมา  มาตลิสังคาหกเทพบุตรยืน  ณ  ข้างเบื้องซ้าย  ถือของหอมระเบียบและดอกไม้อันเป็นทิพย์นมัสการอยู่  ทำบูชาแล้วลงมา.  ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร,  ท้าวสุยามถือพัดวาลวิชนี.  พระศาสดาเสด็จลงพร้อมด้วยบริวารนี้  หยุดประทับอยู่ที่ประตูสังกัสสนคร.  แม้พระสารีบุตรเถระ  มาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว  เพราะพระศาสดาเสด็จลงด้วยพุทธสิริเห็นปานนั้น  อันท่านไม่เคยเห็นแล้ว  ในกาลก่อนแต่นี้,  เพราะฉะนั้น  จึงประกาศความยินดีของตน  ด้วยคาถาทั้งหลายเป็นต้นว่า:-

            “พระศาสดา  ผู้มีถ้อยคำอันไพเราะ  ทรงเป็นอาจารย์แห่งคณะ*(คณิมาคโต  ตัดบทเป็น  คณี  อาคโต. อรรถกถาว่า…คณาจริยตฺตา  คณี…)  เสด็จมาจากดุสิตอย่างนี้  เรายังไม่เห็น  หรือไม่ได้ยินต่อใคร  ในกาลก่อนแต่นี้”

               แล้วทูลว่า  “พระเจ้าข้า  วันนี้เทวดาและมนุษย์แม้ทั้งหมดย่อมกระหยิ่มปรารถนาต่อพระองค์.”

               ลำดับนั้น  พระศาสดาตรัสกะท่านว่า  “สารีบุตร  ชื่อว่าพระพุทธเจ้าผู้ประกอบพร้อมด้วยคุณเห็นปานนี้  ย่อมเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายโดยแท้.”  เมื่อจะทรงแสดงธรรม  จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

                 เย  ฌานปฺปสุตา  ธีรา เนกฺขมฺมูปสเม  รตา  เทวาปิ  เตสํ  ปิหยนฺติ สมฺพุทฺธานํ  สตีมตํ.

                  “พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใด  เป็นปราชญ์  ขวนขวายในฌาน  ยินดีแล้วในธรรมที่เข้าไปสงบด้วยสามารถแห่งการออก,  แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ย่อมกระหยิ่มต่อพระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น  ผู้มีสติ.”

                        แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น  สองบทว่า  เย  ฌานปฺปสุตา  ความว่า  ประกอบแล้ว  ขวนขวายแล้วในฌาน ๒ อย่างเหล่านี้  คือ  ลักขณูปนิชฌาน  อารัมมณูปนิชฌาน  ด้วยการนึกการเข้าการอธิษฐานการออกและการพิจารณา. บรรพชา  อันผู้ศึกษาไม่พึงถือว่า  “เนกขัมมะ”  ในคำว่า  เนขมฺมูปสเมรตา  นี้,  ก็คำ  “เนกขัมมะ”  นั่น  พระองค์ตรัส  หมายเอาความยินดีในนิพพาน  อันเป็นที่เข้าไปสงบกิเลส.  บทว่า  เทวาปิ  ความว่า  เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมกระหยิ่ม  คือปรารถนาต่อพระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น.

                         บทว่า  สตีมตํ  ความว่า  เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าว่า  “น่าชมจริงหนอ  แม้เราพึงเป็นพระพุทธเจ้า”  ดังนี้ ชื่อว่าย่อมกระหยิ่มต่อพระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น  ผู้มีพระคุณเห็นปานนี้  ผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยสติ.

                        ในกาลจบเทศนา  ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ประมาณ ๓๐ โกฏิ. ภิกษุ ๕๐๐ สัทธิวิหาริกของพระเถระ  ตั้งอยู่แล้วในพระอรหัต.สังกัสสนครเป็นที่เสด็จลงจากดาวดึงส์

                        ได้ยินว่า  การทำยมกปาฏิหาริย์แล้วจำพรรษาในเทวโลก  แล้วเสด็จลงที่ประตูสังกัสสนคร  อันพระพุทธเจ้าทุกๆ  พระองค์ไม่ทรงละแล้วแล,

                          ก็สถานที่พระบาทเบื้องขวาประดิษฐาน  ณ  ที่เสด็จลงนั้น  มีนามว่าอจลเจติยสถาน.  พระศาสดาประทับยืน  ณ  ที่นั้น  ตรัสถามปัญหาในวิสัยของปุถุชนเป็นต้น,  พวกปุถุชนแก้ปัญหาได้ในวิสัยของตนเท่านั้น  ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระโสดาบันได้.  พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้นก็เหมือนกัน  ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระอริยบุคคลทั้งหลาย  มีพระสกทาคามีเป็นต้น.  พระมหาสาวกที่เหลือไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระมหาโมคคัลลานะ.  พระมหาโมคคัลลานะไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระสารีบุตรเถระได้.  แม้พระสารีบุตรเถระก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน.  พระศาสดาทรงแลดูทิศทั้งปวง  ตั้งต้นแต่ปาจีนทิศ.  สถานที่ทั้งปวง  ได้มีเนินเป็นอันเดียวกันทีเดียว,  เทวดาและมนุษย์ใน ๘ ทิศ  และเทวดาเบื้องบนจดพรหมโลก  และยักษ์นาคและสุบรรณผู้อยู่  ณ  ภาคพื้นเบื้องต่ำ  ประคองอัญชลีกราบทูลว่า  “พระเจ้าข้า  ชื่อว่าผู้วิสัชนาปัญหานี้มิได้มีในสมาคมนี้,ขอพระองค์โปรดใคร่ครวญในสมาคมนี้ทีเดียว.”

อจลเจดีย์ ในเมืองสังกัสสะนคร สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์

                        พระสารีบุตรเถระมีปัญญามาก

                        พระศาสดาทรงดำริว่า  “สารีบุตรย่อมลำบาก,  ด้วยว่า  เธอได้ฟังปัญหาที่เราถามแล้วในพุทธวิสัยนี้ว่า:-

                        “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์  เธอมีปัญญารักษาตนอันเราถามถึงความเป็นไปของท่าน  ผู้มีธรรมอันนับพร้อมแล้วทั้งหลาย  และพระเสขะทั้งหลาย  ซึ่งมีอยู่มากในโลกนี้  จงบอกความเป็นไปนั้นแก่เรา” ดังนี้,  เป็นผู้หมดความสงสัยในปัญหาว่า  ‘พระศาสดาย่อมตรัสถามถึงปฏิปทาเป็นที่มา  (มรรคปฏิปทา)  ของพระเสขะและอเสขะกะเรา’  ดังนี้ก็จริง,ถึงอย่างนั้นก็ยังหวังอัธยาศัยของเราอยู่ว่า  ‘เราเมื่อกล่าวปฏิปทานี้ด้วยมุขไหนๆ  ในธรรมทั้งหลายมีขันธ์เป็นต้น  จึงจักอาจถือเอาอัธยาศัยของพระศาสดาได้;’  สารีบุตรนั้นเมื่อเราไม่ให้นัย  จักไม่อาจแก้ได้,  เราจักให้นัยแก่เธอ”  เมื่อจะทรงแสดงนัย  ตรัสว่า  “สารีบุตร  เธอจงพิจารณาเห็นความเป็นจริงนี้.”  ได้ยินว่า  พระองค์ได้ทรงดำริอย่างนี้ว่า “สารีบุตรเมื่อถือเอาอัธยาศัยของเราแก้  จักแก้ด้วยสามารถแห่งขันธ์” ปัญหานั้นปรากฏแก่พระเถระตั้งร้อยนัย  พันนัย  พร้อมกับการประทานนัย.ท่านตั้งอยู่ในนัยที่พระศาสดาประทาน  แก้ปัญหานั้นได้แล้ว,  ได้ยินว่า คนอื่นยกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย  ชื่อว่าสามารถเพื่อจะทันปัญญาของพระสารีบุตรเถระหามิได้.  นัยว่า  เหตุนั้นแล  พระเถระจึงยืนตรงพระพักตร์พระศาสดา  บันลือสีหนาทว่า  “พระเจ้าข้า  เมื่อฝนตกแม้ตลอดกัลป์ทั้งสิ้น ข้าพระองค์ก็สามารถเพื่อจะนับ  แล้วยกขึ้นซึ่งคะแนนว่า  ‘หยาดน้ำทั้งหลายตกในมหาสมุทรเท่านี้หยาด,  ตกบนแผ่นดินเท่านี้หยาด,  บนภูเขาเท่านี้หยาด.”  แม้พระศาสดาก็ตรัสกะท่านว่า  “สารีบุตร  เราก็ทราบความที่เธอสามารถจะนับได้.”  ชื่อว่าข้ออุปมาเปรียบด้วยปัญญาของท่านนั้น  ย่อมไม่มี.  เหตุนั้นแล  ท่านจึงกราบทูลว่า:-

            “ทรายในแม่น้ำคงคา  พึงสิ้นไป  น้ำในห้วงน้ำใหญ่  พึงสิ้นไป  ดินในแผ่นดิน  พึงสิ้นไป  การแก้ปัญหาด้วยความรู้ของข้าพระองค์  ย่อมไม่สิ้นไปด้วยคะแนน.”

             มีคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้เป็นที่พึ่งของโลก  ก็ถ้าว่า  เมื่อข้าพระองค์แก้ปัญหาข้อหนึ่งแล้ว  บุคคลพึงใส่ทรายเมล็ดหนึ่งหรือหยาดน้ำหยาดหนึ่ง  หรือดินร่วนก้อนหนึ่ง  เมื่อข้าพระองค์แก้ปัญหาร้อย   หรือพัน  หรือแสนข้อ  พึงใส่คะแนนทั้งหลายมีทรายเป็นต้น  ทีละหนึ่งๆ  ณ  ส่วนข้างหนึ่งในแม่น้ำคงคา,  คะแนนทั้งหลายมีทรายเป็นต้นในแม่น้ำคงคาเป็นต้น  พึงถึงความสิ้นไปเร็วกว่า:  การแก้ปัญหาของข้าพระองค์  ย่อมไม่สิ้นไป.”

              ภิกษุแม้มีปัญญามากอย่างนี้  ก็ยังไม่เห็นเงื่อนต้นหรือเงื่อนปลายแห่งปัญหาที่พระศาสดาถามแล้วในพุทธวิสัย  ต่อตั้งอยู่ในนัยที่พระศาสดาประทานแล้ว  จึงแก้ปัญหาได้.  ภิกษุทั้งหลายฟังดังนั้นแล้ว  สนทนากันว่า  “แม้ชนทั้งหมด  อันพระศาสดาตรัสถามปัญหาใด  ไม่อาจแก้ได้,พระสารีบุตรเถระผู้เป็นธรรมเสนาบดีผู้เดียวเท่านั้น  แก้ปัญหานั้นได้.”  พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้วตรัสว่า  “สารีบุตรแก้ปัญหาที่มหาชนไม่สามารถจะแก้ได้  ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้;  แม้ในภพก่อน  เธอก็แก้ได้แล้วเหมือนกัน”  ดังนี้แล้วทรงนำอดีตนิทานมา  ตรัสชาดกนี้โดยพิสดารว่า:

            “คนที่มาประชุมกันแล้ว  แม้ตั้งพันเป็นกำหนด คนเหล่านั้นหาปัญญามิได้  พึงคร่ำครวญตั้ง ๑๐๐ ปี, บุรุษใดผู้รู้ชัดซึ่งอรรถแห่งภาษิตได้  บุรุษผู้นั้นซึ่งเป็นผู้มีปัญญาคนเดียวเท่านั้น  ประเสริฐกว่า”  ดังนี้แล.

               ในที่สุดเรื่องยมกปาฏิหาริย์ก็ขอสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

                ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

ยมกปาฏิหาริย์

                        ลักษณะของยมกปาฏิหาริย์ 

                        ญาณในยมกปาฏิหาริย์ของพระตถาคตเป็นไฉน?  ในญาณนี้พระตถาคตทรงทำยมกปาฏิหาริย์ไม่ทั่วไป ด้วยพวกสาวก ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องบน, สายน้ำไหล ออกแต่พระกายเบื้องล่าง; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องล่าง, สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องบน; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกาย เบื้องหน้า, สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องหลัง; ท่อไฟพลุ่งออก แต่พระกายเบื้องหลัง, สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องหน้า; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระเนตรเบื้องขวา, สายน้ำไหลออกแต่พระเนตร เบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระเนตรเบื้องซ้าย; สายน้ำไหลออกแต่พระเนตรเบื้องขวา; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องขวา, สายน้ำ ไหลออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระกรรณ เบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องขวา; ท่อไฟพลุ่งออก แต่ช่องพระนาสิกเบื้องขวา, สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระ- นาสิกเบื้องขวา; ท่อไฟพลุ่งออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องขวา, สายน้ำไหล ออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้อง ซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องขวา; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ พระหัตถ์เบื้องขวา, สายน้ำไหลออกแต่พระหัตถ์เบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่ง ออกแต่พระหัตถ์เบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่พระหัตถ์เบื้องขวา; ท่อไฟ พลุ่งออกแต่พระปรัศว์เบื้องขวา; สายน้ำไหลออกแต่พระปรัศว์เบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระปรัศว์เบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่พระปรัศว์เบื้อง ขวา; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระบาทเบื้องขวา, สายน้ำไหลออกแต่พระบาท เบื้องซ้าย; ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระบาทเบื้องซ้าย, สายน้ำไหลออกแต่ พระบาทเบื้องขวา, ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระองคุลี, สายน้ำไหลออกแต่ ช่องพระองคุลี; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระองคุลี สายน้ำไหลออกจาก พระองคุลี; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ขุมพระโลมาขุมหนึ่งๆ, สายน้ำไหลออก แต่พระโลมาเส้นหนึ่งๆ, ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระโลมาเส้นหนึ่งๆ, สายน้ำไหลออกแต่ขุมพระโลมาขุมหนึ่งๆ. รัศมีทั้งหลายย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งสี ๖ อย่าง คือ เขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท ปภัสสร; พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจงกรม, พระพุทธนิรมิตย่อมยืนหรือนั่งหรือสำเร็จ การนอน; (พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืน พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรม นั่ง หรือสำเร็จการนอน, พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง พระพุทธนิรมิตย่อม จงกรม ยืนหรือสำเร็จการนอน; พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยา พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรม ยืนหรือนั่ง; พระพุทธนิรมิตจงกรม, พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงยืน ประทับนั่ง หรือสำเร็จสีหไสยา; พระพุทธ- นิรมิตทรงยืน, พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงจงกรม ประทับนั่งหรือทรง สำเร็จสีหไสยา;). พระพุทธนิรมิตประทับนั่ง, พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรง จงกรม ประทับยืน หรือสำเร็จสีหไสยา พระพุทธนิรมิตสำเร็จสีหไสยา, พระผู้มีพระภาคย่อมทรงจงกรม ประทับยืน หรือประทับนั่ง. นี้เป็น ญาณในยมกปาฏิหาริย์ของพระตถาคต.”

                ก็พระศาสดาเสด็จจงกรมบนที่จงกรมนั้น ได้ทรงทำปาฏิหาริย์นี้ แล้ว. เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น “ท่อไฟย่อมพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องบน ด้วยอำนาจเตโชกสิณสมาบัติของพระศาสดานั้น, สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องล่าง ด้วยอำนาจอาโปกสิณสมาบัติ; ท่อไฟพลุ่งออกแต่ที่ๆ สาย น้ำไหลออกแล้วอีก, และสายน้ำก็ไหลออกแต่ที่ๆ ท่อไฟพลุ่งออก” พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า เหฏฺฐิมกายโต อุปริมกายโต.” นัยในบท ทั้งปวงก็เช่นนี้. ก็ในยมกปาฏิหาริย์นี้ ท่อไฟมิได้เจือปนกับสายน้ำเลย, อนึ่ง สายน้ำก็มิได้เจือด้วยท่อไฟ, ก็นัยว่าท่อไฟและสายน้ำทั้งสองนี้ พลุ่งขึ้นไปตลอดถึงพรหมโลก แล้วก็ลุกลามไปที่ขอบปากจักรวาล. ก็เพราะเหตุที่พระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า “ฉนฺนํ วณฺณานํ” พระรัศมีพรรณะ ๖ ประการของพระศาสดานั้น พลุ่งขึ้นไปจากห้องแห่งจักรวาลหนึ่ง ดุจทองคำละลายคว้าง ซึ่งกำลังไหลออกจากเบ้า และดุจสายน้ำแห่งทองคำที่ไหลออกจากทะนานยนต์ จดพรหมโลกแล้วสะท้อนกลับมาจดขอบปากจักรวาลตามเดิม. ห้องแห่งจักรวาลหนึ่ง ได้เป็นดุจเรือนต้นโพธิที่ตรึงไว้ด้วยซี่กลอนอันคด มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน. ในวันนั้น พระศาสดาเสด็จจงกรมทรงทำ (ยมก) ปาฏิหาริย์แสดง ธรรมกถาแก่มหาชนในระหว่างๆ, และเมื่อทรงแสดงไม่ทรงทำให้มหาชนให้หนักใจ*(นิรสฺสาสํ ให้มีความโล่งใจออกแล้ว.) ประทานให้เบาใจยิ่ง. ในขณะนั้นมหาชนยังสาธุการให้เป็นไปแล้ว. ในเวลาที่สาธุการของมหาชนนั้นเป็นไป พระศาสดาทรงตรวจดูจิตของบริษัทซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น ได้ทรงทราบวาระจิตของคนหนึ่งๆ ด้วย. อำนาจอาการ ๑๖ อย่าง. จิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นไปเร็วอย่างนี้, บุคคลใดๆ เลื่อมใสในธรรมใด และในปาฏิหาริย์ใด, พระศาสดาทรง แสดงธรรม และได้ทรงทำปาฏิหาริย์ด้วยอำนาจอัธยาศัยแห่งบุคคลนั้นๆ. เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม และทรงทำปาฏิหาริย์ด้วยอาการอย่างนี้ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่มหาชนแล้ว. ก็พระศาสดาทรงกำหนดจิตของพระองค์ ไม่ทรงเห็นคนอื่นผู้สามารถจะถามปัญหาในสมาคมนั้น จึงทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิต. พระศาสดาทรงเฉลยปัญหาที่พระพุทธนิรมิตนั้นถามแล้ว. พระพุทธนิรมิตนั้นก็เฉลยปัญหาที่พระศาสดาตรัสถามแล้ว. ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจงกรม พระพุทธนิรมิตสำเร็จอิริยาบถมีการยืน เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. ในเวลาที่พระพุทธนิรมิตจงกรม พระผู้มี พระภาคเจ้าทรงสำเร็จพระอิริยาบถ มีการประทับยืนเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวคำ เป็นต้นว่า “พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรมบ้าง” เป็นต้น. ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๒๐ โกฏิในสมาคมนั้น เพราะเห็นปาฏิหาริย์ของพระศาสดา ผู้ทรงทำอยู่อย่างนั้น และเพราะได้ฟังธรรมกถา.

เนินมะม่วง (คัณฑามพพฤกษ์) สถานที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์สถูปบนยอดเนินมะม่วง

 

พระศาสดาเสด็จจำพรรษาชั้นดาวดึงส์

                        พระศาสดากำลังทรงทำปาฏิหาริย์อยู่นั่นแล ทรงรำพึงว่า “พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลายทำปาฏิหาริย์นี้แล้ว จำพรรษาที่ไหนหนอแล ?” ทรงเห็นว่า “จำพรรษาในภพดาวดึงส์ แล้วทรงแสดงอภิธรรมปิฎกแก่พระพุทธมารดา” (เป็นที่มาของการสวดพระอภิธรรมในงานศพ)  ดังนี้แล้ว ทรงยกพระบาทขวาเหยียบเหนือยอดภูเขายุคันธร ทรงยกพระบาทอีกข้างหนึ่งเหยียบเหนือยอดเขาสิเนรุ วาระที่ย่างพระบาท ๓ ก้าว ได้มีแล้วในที่ ๖๘ แสนโยชน์อย่างนี้. ช่องพระบาท ๒ ช่อง ได้ถ่างออกเช่นเดียวกันกับการย่างพระบาทตามปกติ. ใครๆ ไม่พึงกำหนดว่า “พระศาสดาทรงเหยียดพระบาทเหยียบแล้ว. เพราะในเวลาที่พระองค์ทรงยกพระบาทนั่นแหละ ภูเขาเหล่านั้นก็มาสู่ที่ใกล้พระบาทรับไว้แล้ว, ในเวลาที่พระศาสดาทรงเหยียบแล้ว ภูเขาเหล่านั้นก็ตั้งประดิษฐานในที่เดิม. ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาแล้ว ทรงดำริว่า “พระศาสดาจักทรงเข้าจำพรรษานี้ ในท่ามกลางบัณฑุกัมพลสิลา, อุปการะจักมีแก่เหล่าเทพดามากหนอ, แต่เมื่อพระศาสดาทรงจำพรรษาที่นั่น เทพดาอื่นๆ จักไม่อาจหยุดมือได้; ก็แลบัณฑุกัมพลสิลานี้ ยาว ๖๐ โยชน์ กว้าง ๕๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ แม้เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้วก็คงคล้ายกับว่างเปล่า.” พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของท้าวเธอ ทรงโยนสังฆาฏิของพระองค์ไปให้คลุมพื้นศิลาแล้ว. ท้าวสักกะทรงดำริว่า “พระศาสดาทรงโยนจีวรมาให้คลุมไว้ก่อน, ก็พระองค์จักประทับนั่งในที่นิดหน่อยด้วยพระองค์เอง.” พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของท้าวเธอ จึงประทับนั่งทำบัณฑุกัมพลสิลาไว้ภายในขนดจีวรนั่นเอง ประหนึ่งภิกษุผู้ทรงผ้ามหาบังสุกุล ทำตั่งเตี้ยไว้ภายในขนดจีวรฉะนั้น.

                       ขณะนั้นเอง แม้มหาชนแลดูพระศาสดาอยู่ก็มิได้เห็น. กาลนั้นได้เป็นประหนึ่งเวลา พระจันทร์ตก, และได้เป็นเหมือนเวลาพระอาทิตย์ตก. มหาชนคร่ำครวญกล่าวคาถานี้ว่า:- “พระศาสดาเสด็จไปสู่เขาจิตรกูฏ หรือสู่เขาไกรลาส หรือสู่เขายุคันธร, เราทั้งหลายจึงไม่เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้โลกเชษฐ์ ผู้ประเสริฐกว่านระ.” อีกพวกหนึ่งกำลังคร่ำครวญว่า “ชื่อว่าพระศาสดาทรงยินดีแล้วในวิเวก, พระองค์จักเสด็จไปสู่แคว้นอื่นหรือชนบทอื่นเสียแล้ว เพราะ ทรงละอายว่า ‘เราทำปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ แก่บริษัทเห็นปานนี้,’ บัดนี้ เราทั้งหลายคงไม่ได้เห็นพระองค์” ดังนี้ กล่าวคาถานี้ว่า:- “พระองค์ผู้เป็นปราชญ์ ทรงยินดีแล้วในวิเวก จักไม่เสด็จกลับมาโลกนี้อีก, เราทั้งหลายจะไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้โลกเชษฐ์ ผู้ประเสริฐกว่านระ” ดังนี้. ชนเหล่านั้นถามพระมหาโมคคัลลานะว่า “พระศาสดาเสด็จไปที่ไหน ? ขอรับ” ท่านแม้ทราบอยู่เองก็ยังกล่าวว่า “จงถามพระอนุรุทธเถิด” ด้วยมุ่งหมายว่า “คุณแม้ของสาวกอื่นๆ จงปรากฏ” ดังนี้. ชนเหล่านั้นถามพระเถระอย่างนั้นว่า “พระศาสดาเสด็จไปที่ไหน ? ขอรับ.” อนุรุทธ. เสด็จไปจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลสิลา ในภพดาวดึงส์ แล้วทรงแสดงอภิธรรมปิฎกแก่พระมารดา. มหาชน. จักเสด็จมาเมื่อไร ? ขอรับ. อนุรุทธ. ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกตลอด ๓ เดือนแล้ว จักเสด็จมาในวันมหาปวารณา. ชนเหล่านั้นพูดกันว่า “พวกเราไม่ได้เห็นพระศาสดาจักไม่ไป” ดังนี้แล้ว ทำที่พักอยู่แล้วในที่นั้นนั่นเอง. ได้ยินว่า ชนเหล่านั้นได้มี อากาศนั่นเอง เป็นเครื่องมุงเครื่องบัง ชื่อว่าเหงื่อที่ไหลออกจากตัวของบริษัทใหญ่ถึงเพียงนั้น มิได้ปรากฏแล้ว. แผ่นดินได้แหวกช่องให้แล้ว. พื้นแผ่นดินในที่ทุกแห่งได้เป็นที่สะอาดทีเดียว. พระศาสดาได้ตรัสสั่ง พระมหาโมคคัลลานะไว้ก่อนทีเดียวว่า “โมคคัลลานะ เธอพึงแสดงธรรมแก่บริษัทนั่น, จุลอนาถบิณฑิกะจักให้อาหาร.” เพราะเหตุนั้น จุลอนาถบิณฑิกะแลได้ให้แล้วซึ่งข้าวต้ม ข้าวสวย ของเคี้ยว ของหอม ระเบียบและเครื่องประดับ แก่บริษัทนั้น ทุกเวลาทั้งเช้าและเย็นตลอดไตรมาสนั้น. พระมหาโมคคัลลานะแสดงธรรมแล้ว วิสัชนาปัญหาที่เหล่าชนผู้มาแล้วๆ เพื่อดูปาฏิหาริย์ถามแล้ว

พระสัมพุทธเจ้าไพโรจน์ล่วงเหล่าเทวดา

                 เทวดาในหมื่นจักรวาลแวดล้อมแม้พระศาสดา  ผู้ทรงจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลสิลา เพื่อทรงแสดงอภิธรรมแก่พระมารดา เหตุนั้นพระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า:-

            “ในกาลใด พระพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดบุรุษประทับอยู่เหนือบัณฑุกัมพลสิลา ณ ควงไม้ปาริฉัตตกะ ในภพดาวดึงส์, ในกาลนั้น เทพดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุประชุมพร้อมกันแล้วเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประทับอยู่บนยอดเขา, เทพดาองค์ไหนๆ ก็หาไพโรจน์กว่าพระสัมพุทธเจ้าโดยวรรณะไม่, พระสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ย่อมไพโรจน์ล่วงปวงเทพดาทั้งหมด.”

             ก็เมื่อพระศาสดานั้น ประทับนั่งครอบงำเทพดาทุกหมู่เหล่า ด้วยรัศมีพระสรีระของพระองค์อย่างนี้ พระพุทธมารดาเสด็จมาจากวิมานชั้นดุสิต ประทับนั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องขวา. แม้อินทกเทพบุตร ก็มานั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องขวาเหมือนกัน.  อังกุรเทพบุตรมานั่ง ณ พระปรัศว์เบื้องซ้าย. อังกุรเทพบุตรนั้น เมื่อเทพดาทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกัน ร่นออกไปแล้ว ได้โอกาสในที่มีประมาณ ๑๒ โยชน์. อินทกเทพบุตรนั่งในที่นั่นเอง. พระศาสดาทอดพระเนตรดูเทพบุตรทั้งสองนั้นแล้ว มีพระประสงค์จะยังบริษัทให้ทราบความที่ทานอันบุคคลถวายแล้วแก่ทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระองค์ เป็นกุศลมีผลมาก จึงตรัสอย่างนี้ว่า  “อังกุระ เธอทำแถวเตาไฟยาว ๑๒ โยชน์ให้ทานเป็นอันมาก ในกาลประมาณหมื่นปี ซึ่งเป็นระยะกาลนาน, บัดนี้เธอมาสู่สมาคมของเราได้โอกาสในที่ไกลตั้ง ๑๒ โยชน์ ซึ่งไกลกว่าเทพบุตรทั้งหมด; อะไรหนอแลเป็นเหตุในข้อนี้?”  แท้จริงพระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย ก็ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า:-

            “พระสัมพุทธเจ้า ทอดพระเนตรอังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตรแล้ว เมื่อจะทรงยกย่องทักขิไณยบุคคล ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า  ‘อังกุระ  เธอให้ทานเป็นอันมาก ในระหว่างกาลนาน, เธอเมื่อมาสู่สำนักของเรา นั่งเสียไกลลิบ.”

             พระศาสดาตรัสได้ยินถึงมนุษยโลกพระสุรเสียงนั้น (ดัง) ถึงพื้นปฐพี. บริษัททั้งหมดนั้น ได้ยินพระสุรเสียงนั้น.

             เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนั้นแล้ว อังกุรเทพบุตร อันพระศาสดาผู้มีพระองค์อันอบรมแล้วตรัสเตือนแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ว่า:-

            “ข้าพระองค์จะต้องการอะไร ด้วยทานอันว่างเปล่าจากทักขิไณยบุคคล  ยักษ์*(เทพบุตรผู้อันบุคคลพึงบูชา.) ชื่ออินทกะนี้นั้นถวายทานแล้วนิดหน่อย ยังรุ่งเรืองยิ่งกว่าข้าพระองค์ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว.”

              เมื่ออังกุรเทพบุตรกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาตรัสกะอินทกเทพบุตรว่า  “อินทกะ เธอนั่งข้างขวาของเรา, ไฉนจึงไม่ต้องร่นออกไปนั่งเล่า?” อินทกเทพบุตรกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้ทักขิไณยสมบัติแล้ว ดุจชาวนาหว่านพืชนิดหน่อยในนาดี”  ดังนี้แล้วเมื่อจะประกาศทักขิไณยบุคคล จึงกราบทูลว่า:-

            “พืชแม้มาก อันบุคคลหว่านแล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังชาวนาให้ยินดี ฉันใด, ทานมากมาย อันบุคคลตั้งไว้ในหมู่ชนผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทั้งไม่ยังทายกให้ยินดี ฉันนั้น

              เหมือนกัน;  พืชแม้เล็กน้อย อันบุคคลหว่านแล้วในนาดี เมื่อฝนหลั่งสายน้ำถูกต้อง (ตามกาล) ผลก็ย่อมยังชาวนาให้ยินดีได้ ฉันใด, เมื่อสักการะแม้เล็กน้อยอันทายกทำแล้วในเหล่าท่านผู้มีศีล ผู้มีคุณคงที่ผลก็ย่อมยังทายกให้ยินดีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.”

               ทานที่ให้ในทักขิไณยบุคคลมีผลมาก

               ถามว่า  “ก็บุรพกรรมของอินทกเทพบุตรนั้น  เป็นอย่างไร ?” แก้ว่า  “ได้ยินว่า อินทกเทพบุตรนั้นได้ให้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่งที่เขานำมาแล้วเพื่อตน แก่พระอนุรุทธเถระผู้เข้าไปบิณฑบาตภายในบ้าน.บุญของเธอนั้น มีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตร ทำแถวเตาไฟยาวตั้ง ๑๒ โยชน์ ให้แล้วตั้งหมื่นปี, เพราะเหตุนั้น อินทกเทพบุตรจึงกราบทูลอย่างนั้น.”  เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาตรัสว่า “อังกุระ การเลือกเสียก่อนแล้วให้ทานจึงควร, ทานนั้นย่อมมีผลมากด้วยอาการอย่างนี้ ดุจพืชที่เขาหว่านดีในนาดีฉะนั้น; แต่เธอหาได้ทำอย่างนั้นไม่,เหตุนั้น ทานของเธอจึงไม่มีผลมาก” เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้งจึงตรัสว่า:-

            “ทานอันบุคคลให้แล้วในเขตใด มีผลมาก, บุคคลพึงเลือกให้ทานในเขตนั้น; การเลือกให้ อันพระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว,  ทานที่บุคคลให้แล้วในทักขิไณยบุคคลทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกคือหมู่สัตว์ที่ยังเป็นอยู่นี้ มีผลมาก เหมือนพืชที่บุคคลหว่านแล้วในนาดีฉะนั้น.”

              เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไป  ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า:-

            “นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย หมู่สัตว์นี้มีราคะเป็นเครื่องประทุษร้าย, เพราะเหตุนั้นแลทานที่บุคคลให้แล้ว  ในท่านที่มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย หมู่สัตว์นี้มีโทสะเป็นเครื่องประทุษร้าย, เพราะเหตุนั้นแล  ทานที่บุคคลให้แล้วในท่านผู้มีโทสะไปปราศแล้วทั้งหลาย จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย  หมู่สัตว์นี้มีโมหะเป็นเครื่องประทุษร้าย,  เพราะเหตุนั้นแล ทานที่บุคคลให้แล้วในท่านผู้มีโมหะไปปราศแล้วทั้งหลาย  จึงมีผลมาก.  นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นเครื่องประทุษร้าย, หมู่สัตว์นี้มีความอยากเป็นเครื่องประทุษร้าย  เพราะเหตุนั้นแล  ทานที่บุคคลให้แล้ว  ในท่านผู้มีความอยากไปปราศแล้วทั้งหลาย  จึงมีผลมาก.”

                ในกาลจบเทศนา อังกุรเทพบุตรและอินทกเทพบุตร ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.  (ธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว).

                พระศาสดาเสด็จไปโปรดพระมารดาชั้นดาวดึงส์

                 ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางเทวบริษัท ทรงปรารภพระมารดาเริ่มตั้งอภิธรรมปิฎกว่า  “กุสลา  ธมฺมา,  อกุสลา  ธมฺมา, อพฺยากตา  ธมฺมา”  ดังนี้เป็นต้น. ทรงแสดงอภิธรรมปิฎกโดยนัยนี้เรื่อยไปตลอด ๓ เดือน.  ก็แลทรงแสดงธรรมอยู่  ในเวลาภิกษาจารทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิต ด้วยทรงอธิษฐานว่า “พุทธนิรมิตนี้จงแสดงธรรมชื่อเท่านี้ จนกว่าเราจะมา”  แล้วเสด็จไปป่าหิมพานต์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันชื่อนาคลตา บ้วนพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต นำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีป ได้ประทับนั่งทำภัตกิจในโรงกว้างใหญ่แล้ว. พระสารีบุตรเถระไปทำวัตรแด่พระศาสดาในที่นั้น. พระศาสดาทรงทำภัตกิจแล้ว  ตรัสแก่พระเถระว่า  “สารีบุตร วันนี้เราภาษิตธรรมชื่อเท่านี้,  เธอจงบอกแก่ (ภิกษุ ๕๐๐) นิสิตของตน.”  ได้ทราบว่า กุลบุตร ๕๐๐ เลื่อมใสยมกปาฏิหาริย์ บวชแล้วในสำนักของพระเถระ. พระศาสดาตรัสแล้วอย่างนั้นทรงหมายเอาภิกษุเหล่านั้น. ก็แลครั้นตรัสแล้ว เสด็จไปสู่เทวโลก ทรงแสดงธรรมเองต่อจากที่พระพุทธนิรมิตแสดง. แม้พระเถระก็ไปแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น.  ภิกษุเหล่านั้น เมื่อพระศาสดาเสด็จอยู่ในเทวโลกนั้นแล  ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ แล้ว.

                ได้ยินว่า  ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ภิกษุเหล่านั้นเป็นค้างคาวหนู ห้อยอยู่ที่เงื้อมแห่งหนึ่ง เมื่อพระเถระ ๒ รูป จงกรมแล้วท่องอภิธรรมอยู่, ได้ฟังถือเอานิมิตในเสียงแล้ว, ค้างคาวเหล่านั้นไม่รู้ว่า  “เหล่านี้ ชื่อว่าขันธ์, เหล่านี้ ชื่อว่าธาตุ”  ด้วยเหตุสักว่าถือเอานิมิตในเสียงเท่านั้น จุติจากอัตภาพนั้น แล้วเกิดในเทวโลกเสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง  จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว เกิดในเรือนตระกูลในกรุงสาวัตถี เกิดความเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์ บวชในสำนักของพระเถระแล้ว  ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ ก่อนกว่าภิกษุทั้งปวง.  แม้พระศาสดาก็ทรงแสดงอภิธรรมโดยทำนองนั้นแล  ตลอด ๓ เดือนนั้น.

                ในกาลจบเทศนา  ธรรมาภิสมัยได้มีแก่เทวดา ๘ หมื่นโกฏิ.  แม้พระมหามายาก็ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.

                พระโมคคัลลานเถระขึ้นไปทูลถามข่าวเสด็จลง

                  บริษัทมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์  แม้นั้นแล  คิดว่า  “แต่บัดนี้ไปในวันที่ ๗ จักเป็นวันมหาปวารณา”  แล้วเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานเถระ  กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ควรจะทราบวันเสด็จลงของพระศาสดา,เพราะข้าพเจ้าทั้งหลาย ไม่เห็นพระศาสดาแล้ว จักไม่ไป.”  ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ฟังถ้อยคำนั้นแล้วรับว่า  “ดีละ”  แล้วดำลงในแผ่นดินตรงนั้นเอง อธิษฐานว่า  “บริษัทจงเห็นเรา ผู้ไปถึงเชิงเขาสิเนรุแล้วขึ้นไปอยู่” มีรูปปรากฏดุจด้ายกัมพลเหลืองที่ร้อยไว้ในแก้วมณีเทียว ขึ้นไปแล้วโดยท่ามกลางเขาสิเนรุ. แม้พวกมนุษย์ก็แลเห็นท่านว่า “ขึ้นไปแล้ว ๑ โยชน์ ขึ้นไปแล้ว ๒ โยชน์”  เป็นต้น,  แม้พระเถระขึ้นไปถวายบังคมพระบาทยุคลของพระศาสดา ดุจเทินไว้ด้วยเศียรเกล้า กราบทูลอย่างนี้ว่า  “พระเจ้าข้า บริษัทประสงค์จะเฝ้าพระองค์ก่อนแล้วไป, พระองค์จักเสด็จลงเมื่อไร ?”

                  พระศาสดา.  โมคคัลลานะ ก็สารีบุตร พี่ของเธอ อยู่ที่ไหน.

                  โมคคัลลานะ  พระเจ้าข้า ท่านจำพรรษาอยู่ในสังกัสสนคร.

                  พระศาสดา. โมคคัลลานะ ในวันที่ ๗ แต่วันนี้  (ไป) เราจักลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ ในวันมหาปวารณา,  ผู้ใคร่จะพบเราก็จงไปที่นั้นเถิด; ก็แลสังกัสสนครจากกรุงสาวัตถี มีประมาณ ๓๐ โยชน์, ในทางเท่านั้น กิจที่จะต้องเตรียมเสบียง ย่อมไม่มีแก่ใครๆ,  เธอพึงบอกแก่คนเหล่านั้นว่า  ‘ท่านทั้งหลาย   จงเป็นผู้รักษาอุโบสถไป  ดุจไปสู่วิหารใกล้เพื่อฟังธรรมเถิด.

ยมกปาฏิหาริย์ บทเริ่มต้นการเสด็จจำพรรษาในดาวดึงส์ ตอนที่ ๒

                  ในเมื่อเมืองสาวัตถี ไม่มีต้นมะม่วงเสียแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงปาฏิหารย์ใต้ต้นมะม่วงได้อย่างไร ติดตามต่อได้ครับ

                  ในวันเพ็ญเดือน ๘  พระศาสดาเสด็จเข้าไปภายในพระนคร.  ผู้รักษาสวนของพระราชา ชื่อคัณฑะ เห็นมะม่วงสุกผลใหญ่ผลหนึ่งในระหว่างกลุ่มใบที่มดดำมดแดงทำรังไว้ ไล่กาที่มาชุมนุมด้วยความโลภในกลิ่นและรสแห่งมะม่วงนั้นให้หนีไปแล้ว ถือเอาเพื่อประโยชน์แด่พระราชา  เดินไปเห็นพระศาสดาในระหว่างทาง คิดว่า “พระราชาเสวยผลมะม่วงนี้แล้ว พึงพระราชทานกหาปณะแก่เรา ๘ กหาปณะ  หรือ ๑๖ กหาปณะ,  กหาปณะนั้นไม่พอเพื่อเลี้ยงชีพในอัตภาพหนึ่งของเรา;  ก็ถ้าว่า เราจักถวายผลมะม่วงนี้แด่พระศาสดา, นั่นจักเป็นคุณนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่เราตลอดกาลไม่มีสิ้นสุด.”  เขาน้อมถวายผลมะม่วงนั้นแด่พระศาสดา.

                  พระศาสดาทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระแล้ว. ลำดับนั้นพระเถระนำบาตรที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายออกมาแล้ว วางที่พระหัตถ์ของพระองค์.

                  พระศาสดา ทรงน้อมบาตรเข้าไปรับมะม่วงแล้ว ทรงแสดงอาการเพื่อประทับนั่งในที่นั้นนั่นแหละ. พระเถระได้ปูจีวรถวายแล้ว. ลำดับนั้นเมื่อพระองค์ประทับนั่งบนจีวรนั้นแล้ว พระเถระกรองน้ำดื่ม แล้วขยำมะม่วงสุกผลนั้น ได้ทำให้เป็นน้ำปานะถวาย. พระศาสดาเสวยน้ำปานะผลมะม่วงแล้วตรัสกะนายคัณฑะว่า “เธอจงคุ้ยดินร่วนขึ้นแล้ว ปลูกเมล็ดมะม่วงนี้ในที่นี้นี่แหละ.” เขาได้ทำอย่างนั้นแล้ว.

ประวัติคัณฑามพพฤกษ์

             พระศาสดาทรงล้างพระหัตถ์บนเมล็ดมะม่วงนั้น. พอเมื่อพระหัตถ์อันพระองค์ทรงล้างแล้วเท่านั้น, ต้นมะม่วงมีลำต้นเท่าศีรษะไถ (งอนไถ)มีประมาณ ๕๐ ศอก โดยส่วนสูงงอกขึ้นแล้ว. กิ่งใหญ่ ๕ กิ่ง  คือใน ๔ ทิศๆ  ละกิ่ง เบื้องบนกิ่งหนึ่ง ได้มีประมาณกิ่งละ ๕๐ ศอกเทียว. ต้นมะม่วงนั้นสมบูรณ์ด้วยช่อและผล ได้ทรงไว้ซึ่งพวงแห่งมะม่วงสุกในที่แห่งหนึ่ง ในขณะนั้นนั่นเอง.

              พวกภิกษุผู้มาข้างหลัง มาขบฉันผลมะม่วงสุกเหมือนกัน.

              พระราชาทรงสดับว่า  “ข่าวว่า ต้นมะม่วงเห็นปานนี้เกิดขึ้นแล้ว” จึงทรงตั้งอารักขาไว้ด้วยพระดำรัสว่า  “ใครๆ  อย่าตัดต้นมะม่วงนั้น.” ก็ต้นมะม่วงนั้น ปรากฏชื่อว่า  “คัณฑามพพฤกษ์ ”  เพราะความที่นายคัณฑะปลูกไว้. แม้พวกนักเลงเคี้ยวกินผลมะม่วงสุกแล้วพูดว่า  “เจ้าพวกเดียรถีย์ถ่อยเว้ย พวกเจ้ารู้ว่า  ‘พระสมณโคดมจักทรงทำปาฏิหาริย์ที่โคนคัณฑามพพฤกษ์ จึงสั่งให้ถอนต้นมะม่วงเล็กๆ แม้ที่เกิดในวันนั้นในร่วมในที่โยชน์หนึ่ง,  ต้นมะม่วงนี้ ชื่อว่าคัณฑามพะ” แล้วเอาเมล็ดมะม่วงที่เป็นเดนประหารพวกเดียรถีย์เหล่านั้น.

ท้าวสักกะทำลายพิธีของพวกเดียรถีย์

               ท้าวสักกะทรงสั่งบังคับวาตวลาหกเทวบุตรว่า “ท่านจงถอนมณฑปของพวกเดียรถีย์เสียด้วยลม แล้วให้ลม (หอบไป) ทิ้งเสียบนแผ่นดินที่ทิ้งหยากเยื่อ.” เทวบุตรนั้นได้ทำเหมือนอย่างนั้นแล้ว.  ท้าวสักกะสั่งบังคับสุริยเทวบุตรว่า  “ท่านจงขยายมณฑลพระอาทิตย์ ยัง (พวกเดียรถีย์) ให้เร่าร้อน.”  แม้เทวบุตรนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้นแล้ว.  ท้าวสักกะทรงสั่งบังคับวาตวลาหกเทวบุตรอีกว่า  “ท่านจงยังมณฑลแห่งลม (ลมหัวด้วน) ให้ตั้งขึ้นไปเถิด.”  เทวบุตรนั้นทำอยู่เหมือนอย่างนั้น โปรยเกลียวธุลีลงที่สรีระของพวกเดียรถีย์ที่มีเหงื่อไหล. พวกเดียรถีย์เหล่านั้นได้เป็นเช่นกับจอมปลวกแดง.  ท้าวสักกะทรงสั่งบังคับแม้วัสสวลาหกเทวบุตรว่า  “ท่านจงให้หยาดน้ำเม็ดใหญ่ๆ ตก.”  เทวบุตรนั้นได้ทำเหมือนอย่างนั้นแล้ว. ทีนั้น กายของพวกเดียรถีย์เหล่านั้น ได้เป็นเช่นกับแม่โคด่างแล้ว. พวกเขาแตกหมู่กัน หนีไปในที่เฉพาะหน้าๆ นั่นเอง.  เมื่อพวกเขาหนีไปอยู่อย่างนั้น ชาวนาคนหนึ่งเป็นอุปัฏฐากของปูรณกัสสป คิดว่า “บัดนี้เป็นเวลาทำปาฏิหาริย์แห่งพระผู้เป็นเจ้าของเรา, เราจักดูปาฏิหาริย์นั้น” แล้วปล่อยโค ถือหม้อยาคูและเชือก ซึ่งตนนำมาแต่เช้าตรู่เดินมาอยู่ เห็นปูรณะหนีไปอยู่เช่นนั้น จึงกล่าวว่า  “ท่านขอรับ ผมมาด้วยหวังว่า‘จักดูปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้า,’  พวกท่านจะไปที่ไหน?”

                 ปูรณะ.  ท่านจะต้องการอะไรด้วยปาฏิหาริย์, ท่านจงให้หม้อและเชือกนี้แก่เรา.

                 เขาถือเอาหม้อและเชือกที่อุปัฏฐากนั้นให้แล้ว ไปยังฝั่งแม่น้ำ เอาเชือกผูกหม้อเข้าที่คอของตนแล้ว กระโดดลงไปในห้วงน้ำ ยังฟองน้ำให้ตั้งขึ้นอยู่ ทำกาละในอเวจีแล้ว.

                 พระศาสดาทรงนิรมิตจงกรมแก้วในอากาศ. ที่สุดด้านหนึ่งของจงกรมนั้น ได้มีที่ขอบปากจักรวาลด้านปาจีนทิศ, ด้านหนึ่งได้มีที่ขอบปากจักรวาลด้านปัศจิมทิศ. พระศาสดา เมื่อบริษัทมีประมาณ ๓๖ โยชน์ประชุมกันแล้ว, ในเวลาบ่ายเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ด้วยทรงดำริว่า “บัดนี้เป็นเวลาทำปาฏิหาริย์”  แล้ว ได้ประทับยืนที่หน้ามุข.

สาวกสาวิการับอาสาทำปาฏิหาริย์แทน

               ครั้งนั้น อนาคามีอุบาสิกาคนหนึ่ง ผู้นันทมารดา ชื่อฆรณี เข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า เมื่อธิดาเช่นหม่อมฉันมีอยู่,กิจที่พระองค์ต้องลำบากย่อมไม่มี, หม่อมฉันจักทำปาฏิหาริย์.”

                พระศาสดา.  ฆรณี เธอจักทำอย่างไร ?

                 ฆรณี.  พระเจ้าข้า หม่อมฉันจักทำแผ่นดินใหญ่ในห้องแห่งจักรวาลหนึ่งให้เป็นน้ำแล้วดำลงเหมือนนางนกเป็ดน้ำ แสดงตนที่ขอบปากแห่งจักรวาลด้านปาจีนทิศ, ที่ขอบปากแห่งจักรวาลด้านปัศจิมทิศ อุตรทิศและทักษิณทิศก็เช่นนั้น, ตรงกลางก็เช่นนั้น;  เมื่อเป็นเช่นนั้น มหาชนเห็นหม่อมฉันแล้ว,  เมื่อใครๆ พูดขึ้นว่า ‘นั่นใคร ?’ ก็จะบอกว่า ‘นั่นชื่อนางฆรณี, อานุภาพของหญิงคนหนึ่งยังเพียงนี้ก่อน, ส่วนอานุภาพของพระพุทธเจ้า จักเป็นเช่นไร ?’  พวกเดียรถีย์ไม่ทันเห็นพระองค์เลยก็จักหนีไปด้วยอาการอย่างนี้.

                  ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า “ฆรณี เราย่อมทราบความที่เธอเป็นผู้สามารถทำปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ได้, แต่พวงดอกไม้นี้เขามิได้ผูกไว้เพื่อประโยชน์แก่เธอ”  แล้วทรงห้ามเสีย.

                   นางฆรณีนั้นคิดว่า ” พระศาสดาไม่ทรงอนุญาตแก่เรา,  คนอื่นผู้สามารถทำปาฏิหาริย์ยิ่งขึ้นไปกว่าเราจะมีแน่แท้”  ดังนี้ แล้วได้ยืนอยู่ ณ  ที่ส่วนข้างหนึ่ง.

                   ฝ่ายพระศาสดาทรงดำริว่า  “คุณของสาวกเหล่านั้นจักปรากฏด้วยอาการอย่างนี้แหละ”  ทรงสำคัญอยู่ว่า  “พวกสาวกจะบันลือสีหนาท ณ  ท่ามกลางบริษัทมีประมาณ ๓๖ โยชน์  ด้วยอาการอย่างนี้”  จึงตรัสถามสาวกแม้พวกอื่นอีกว่า  “พวกเธอจักทำปาฏิหาริย์อย่างไร ?  สาวกเหล่านั้นก็กราบทูลว่า  “พวกข้าพระองค์จักทำอย่างนี้และอย่างนี้  พระเจ้าข้า”  แล้วยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดานั่นแหละ  บันลือสีหนาท.

                    บรรดาสาวกเหล่านั้น ได้ยินว่า ท่านจุลอนาถบิณฑิกะ คิดว่า “เมื่ออนาคามีอุบาสกผู้เป็นบุตรเช่นเรามีอยู่,  กิจที่พระศาสดาต้องลำบากย่อมไม่มี”  จึงกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์”

                    ถูกพระศาสดาตรัสถามว่า “เธอจักทำอย่างไร ?”  จึงกราบทูลว่า  “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักนิรมิตอัตภาพเหมือนพรหมมีประมาณ ๑๒ โยชน์ จักปรบดุจดังพรหมด้วยเสียงเช่นกับมหาเมฆกระหึ่มในท่ามกลางบริษัทนี้, มหาชนจักถามว่า  ‘นี่ชื่อว่าเสียงอะไรกัน ?’  แล้วจักกล่าวกันเองว่า‘นัยว่า  นี่ชื่อว่าเป็นเสียงแห่งการปรบดังพรหมของท่านจุลอนาถบิณฑิกะ,’ พวกเดียรถีย์จักคิดว่า ‘อานุภาพของคฤหบดียังถึงเพียงนี้ก่อน,   อานุภาพของพระพุทธเจ้าจะเป็นเช่นไร? ยังไม่ทันเห็นพระองค์เลยก็จักหนีไป.”

                    พระศาสดาตรัสเช่นนั้นเหมือนกัน  แม้แก่ท่านจุลอนาถบิณฑิกะนั้นว่า “เราทราบอานุภาพของเธอ”  แล้วไม่ทรงอนุญาตการทำปาฏิหาริย์.

                    ต่อมา สามเณรีชื่อว่า วีรา มีอายุได้ ๗ ขวบ  บรรลุปฏิสัมภิทารูปหนึ่ง ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า หม่อมฉันจักทำปาฏิหาริย์.”

                    พระศาสดา.  วีรา  เธอจักทำอย่างไร ?

                    วีรา.  พระเจ้าข้า หม่อมฉันจักนำภูเขาสิเนรุ ภูเขาจักรวาล และภูเขาหิมพานต์ตั้งเรียงไว้ในที่นี้ แล้วจักออกจากภูเขานั้นๆ ไปไม่ขัดข้องดุจนางหงส์,  มหาชนเห็นหม่อมฉันแล้วจักถามว่า  ‘นั่นใคร ?’  แล้วจักกล่าวว่า  ‘วีราสามเณรี,  พวกเดียรถีย์คิดกันว่า อานุภาพของสามเณรีผู้มีอายุ ๗ ขวบ  ยังถึงเพียงนี้ก่อน, อานุภาพของพระพุทธเจ้าจักเป็นเช่นไร?’  ยังไม่ทันเห็นพระองค์เลยก็จักหนีไป.  เบื้องหน้าแต่นี้ไป พึงทราบคำเห็นปานนี้  โดยทำนองดังที่กล่าวแล้วนั่นแล. พระผู้มีพระภาคเจ้า

                    ตรัสแม้แก่สามเณรีนั้นว่า  “เราทราบอานุภาพของเธอ”  ดังนี้แล้ว ก็ไม่ทรงอนุญาตการทำปาฏิหาริย์.

                    ลำดับนั้น สามเณรชื่อจุนทะผู้เป็นขีณาสพ บรรลุปฏิสัมภิทารูปหนึ่งมีอายุ ๗ ขวบแต่เกิดมา เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า  “ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์  พระเจ้าข้า”  ถูกพระศาสดาตรัสถามว่า “เธอจักทำอย่างไร ?”  จึงกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักจับต้นหว้าใหญ่ที่เป็นธงแห่งชมพูทวีปที่ลำต้นแล้วเขย่า นำผลหว้าใหญ่มาให้บริษัทนี้เคี้ยวกิน, และข้าพระองค์จักนำดอกแคฝอยมาแล้ว ถวายบังคมพระองค์.”  พระศาสดาตรัสว่า  “เราทราบอานุภาพของเธอ”  ดังนี้แล้วก็ทรงห้ามการทำปาฏิหาริย์  แม้ของสามเณรนั้น.

                    ลำดับนั้น  พระเถรีชื่ออุบลวรรณา  ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า  “หม่อมฉันจักทำปาฏิหาริย์ พระเจ้าข้า”  ถูกพระศาสดา ตรัสถามว่า  “เธอจักทำอย่างไร ?”  จึงกราบทูลว่า  “พระเจ้าข้า  หม่อมฉันจักแสดงบริษัทมีประมาณ ๓๒ โยชน์โดยรอบ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  อันบริษัทมีประมาณ ๓๖ โยชน์โดยกลมแวดล้อมแล้วมาถวายบังคมพระองค์.” จักวางเขาหลวงชื่อสิเนรุไว้ในระหว่างฟันแล้ว เคี้ยวกินภูเขานั้นดุจพืชเมล็ดผักกาด  พระเจ้าข้า.”

                พระศาสดา.  เธอจักทำอะไร ?  อย่างอื่น.

                มหาโมคคัลลานะ.  ข้าพระองค์จักม้วนแผ่นดินใหญ่นี้ดุจเสื่อลำแพนแล้วใส่เข้าไว้  (หนีบไว้)  ในระหว่างนิ้วมือ.

               พระศาสดา.  เธอจักทำอะไร ?  อย่างอื่น.

               มหาโมคคัลลานะ.   ข้าพระองค์จักหมุนแผ่นดินใหญ่ ให้เป็นเหมือนแป้นหมุนภาชนะดินของช่างหม้อ  แล้วให้มหาชนเคี้ยวกินโอชะแผ่นดิน.

               พระศาสดา.   เธอจักทำอะไร ?  อย่างอื่น.

               มหาโมคคัลลานะ.   ข้าพระองค์จักทำแผ่นดินไว้ในมือเบื้องซ้ายแล้ววางสัตว์เหล่านี้ไว้ในทวีปอื่นด้วยมือเบื้องขวา.

               พระศาสดา.  เธอจักทำอะไร ? อย่างอื่น.

               มหาโมคคัลลานะ.  ข้าพระองค์จักทำเขาสิเนรุให้เป็นด้ามร่ม  ยกแผ่นดินใหญ่ขึ้นวางไว้ข้างบนของภูเขาสิเนรุนั้น  เอามือข้างหนึ่งถือไว้คล้ายภิกษุมีร่มในมือ  จงกรมไปในอากาศ.

               พระศาสดาตรัสว่า  “เราทราบอานุภาพของเธอ”  ดังนี้แล้วก็ไม่ทรงอนุญาตการทำปาฏิหาริย์  แม้ของพระเถระนั้น.  พระเถระนั้นคิดว่า “ชะรอยพระศาสดาจะทรงทราบผู้สามารถทำปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าเรา”  จึงได้ยืนอยู่  ณ  ที่ส่วนข้างหนึ่ง.

               ลำดับนั้น  พระศาสดาตรัสกะพระเถระนั้นว่า  “โมคคัลลานะ  พวงดอกไม้นี้เขามิได้ผูกไว้เพื่อประโยชน์แก่เธอ,  ด้วยว่า เราเป็นผู้มีธุระที่หาผู้เสมอมิได้, ผู้อื่นที่ชื่อว่าสามารถนำธุระของเราไปได้ไม่มี; การที่ผู้สามารถนำธุระของเราไปได้ไม่พึงมีในบัดนี้ไม่เป็นของอัศจรรย์,  แม้ในกาลที่เราเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานที่เป็นอเหตุกกำเนิด  ผู้อื่นที่สามารถนำธุระของเราไป ก็มิได้มีแล้วเหมือนกัน”  อันพระเถระทูลถามว่า  “ในกาลไรเล่า ?พระเจ้าข้า”  จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสกัณหอุสภชาดก นี้ให้พิสดารว่า:

            “ธุระหนักมีอยู่ในกาลใดๆ,  ทางไปในที่ลุ่มลึก  มีอยู่ในกาลใด  ในกาลนั้นแหละ  พวกเจ้าของย่อมเทียมโคชื่อกัณหะ;  โคชื่อกัณหะนั้นแหละ  ย่อมนำธุระนั้นไป.”

                   เมื่อจะทรงแสดงเรื่องนั้นนั่นแหละให้พิเศษยิ่งขึ้นไปอีก  จึงตรัสนันทวิสาลชาดก นี้ให้พิสดารว่า

            “บุคคลพึงกล่าวคำเป็นที่พอใจเท่านั้น,  ไม่พึงกล่าวคำไม่เป็นที่พอใจในกาลไหนๆ; (เพราะ)  เมื่อพราหมณ์กล่าวคำเป็นที่พอใจอยู่,  โคนันทวิสาลเข็นภาระอันหนักไปได้;  ยังพราหมณ์นั้นให้ได้ทรัพย์, และพราหมณ์นั้นได้เป็นผู้มีใจเบิกบาน  เพราะการได้ทรัพย์นั้น.”

                   ก็แล  พระศาสดาครั้นตรัสแล้ว  จึงเสด็จขึ้นสู่จงกรมแก้วนั้น.  ข้างหน้าได้มีบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์,  ข้างหลัง  ข้างซ้าย  และข้างขวาก็เหมือนอย่างนั้น,  ส่วนโดยตรง มีประมาณ ๒๔ โยชน์.  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์  ในท่ามกลางบริษัท.

                   ในที่สุดก็มีต้นมะม่วงเกิดขึ้นให้พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ส่วนยมกปาฏิหาริย์จะเป็นเช่นไรโปรดติดตามต่อไป

                   ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

ยมกปาฏิหาริย์ บทเริ่มต้นการเสด็จจำพรรษาในดาวดึงส์ ตอนที่ ๑

เศรษฐีได้ไม้จันทน์ทำบาตร

                ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ให้ขึงข่ายมีสัณฐานคล้ายขวด เพื่อความปลอดภัย (เพื่อเปลื้องอันตราย.) และเพื่อรักษาอาภรณ์เป็นต้น ที่หลุดไปด้วยความพลั้งเผลอแล้วเล่นกีฬาทางน้ำในแม่น้ำคงคา.

                ในกาลนั้น ต้นจันทน์แดงต้นหนึ่ง เกิดขึ้นที่ริมฝั่งตอนเหนือของแม่น้ำคงคา มีรากถูกน้ำในแม่น้ำคงคาเซาะโค่นหักกระจัดกระจายอยู่บนหินเหล่านั้นๆ. ครั้งนั้นปุ่มๆ หนึ่งมีประมาณเท่าหม้อ ถูกหินครูดสี ถูกคลื่นน้ำซัด เป็นของเกลี้ยงเกลา ลอยไปโดยลำดับ อันสาหร่ายรวบรัดมาติดที่ข่ายของเศรษฐีนั้น.

                 เศรษฐีกล่าวว่า “นั่นอะไร ?” ได้ยินว่า “ปุ่มไม้” จึงให้นำปุ่มไม้นั้นมาให้ถากด้วยปลายมีด เพื่อจะพิจารณาว่า “นั่นชื่ออะไร ?”

                 ในทันใดนั่นเอง จันทน์แดงมีสีดังครั่งสดก็ปรากฏ. ก็เศรษฐียังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ, ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ, วางตนเป็นกลาง; เขาคิดว่า “จันทน์แดงในเรือนของเรามีมาก, เราจะเอาจันทน์แดงนี้ทำอะไรหนอแล ?” ทีนั้นเขาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “ในโลกนี้ พวกที่กล่าวว่า ‘เราเป็นพระอรหันต์’  มีอยู่มาก, เราไม่รู้จักพระอรหันต์แม้สักองค์หนึ่ง; เราจักให้ประกอบเครื่องกลึงไว้ในเรือน ให้กลึงบาตรแล้ว ใส่สาแหรกห้อยไว้ในอากาศประมาณ ๖๐ ศอก โดยเอาไม้ไผ่ต่อกันขึ้นไปแล้ว จะบอกว่า ‘ถ้าว่า พระอรหันต์มีอยู่, จงมาทางอากาศแล้ว ถือเอาบาตรนี้;’  ผู้ใดจักถือเอาบาตรนั้นได้ เราพร้อมด้วยบุตรภรรยา จักถึงผู้นั้นเป็นสรณะ.”

                เขาให้กลึงบาตรโดยทำนองที่คิดไว้นั่นแหละ ให้ยกขึ้นโดยเอาไม้ไผ่ต่อๆกันขึ้นไปแล้ว กล่าวว่า “ในโลกนี้ ผู้ใดเป็นพระอรหันต์, ผู้นั้นจงมาทางอากาศ ถือเอาบาตรนี้.”

ครูทั้ง  ๖  อยากได้บาตรไม้จันทน์

               ครูทั้งหกกล่าวว่า “บาตรนั้น สมควรแก่พวกข้าพเจ้า, ท่านจงให้บาตรนั้นแก่พวกข้าพเจ้าเสียเถิด.” เศรษฐีนั้นกล่าวว่า “พวกท่านจงมาทางอากาศแล้ว เอาไปเถิด.”

                ในวันที่ ๖ นิครนถ์นาฏบุตรส่งพวกอันเตวาสิกไปด้วยสั่งว่า “พวกเจ้าจงไป, จงพูดกะเศรษฐีอย่างนี้ว่า ‘บาตรนั่น สมควรแก่อาจารย์ของพวกข้าพเจ้า, ท่านอย่าทำการมาทางอากาศเพราะเหตุแห่งของเพียงเล็กน้อยเลย, นัยว่า ท่านจงให้บาตรนั่นเถิด.” พวกอันเตวาสิกไปพูดกะเศรษฐีอย่างนั้นแล้ว. เศรษฐีกล่าวว่า “ผู้ที่สามารถมาทางอากาศแล้วถือเอาได้เท่านั้น จงเอาไป.”

นาฏบุตรออกอุบายเอาบาตร

                  นาฏบุตรเป็นผู้ปรารถนาจะไปเอง จึงได้ให้สัญญาแก่พวกอันเตวาสิกว่า “เราจักยกมือและเท้าข้างหนึ่ง เป็นทีว่าปรารถนาจะเหาะ, วกเจ้าจงร้องบอกเราว่า ‘ท่านอาจารย์ ท่านจะทำอะไร? ท่านอย่าแสดงความเป็นพระอรหันต์ที่ปกปิดไว้ เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ แก่มหาชนเลย’ ดังนี้แล้ว จงพากันจับเราที่มือและเท้าดึงไว้ ให้ล้มลงที่พื้นดิน.” เขาไปในที่นั้นแล้ว กล่าวกะเศรษฐีว่า “มหาเศรษฐี บาตรนี้สมควรแก่เรา,ไม่สมควรแก่ชนพวกอื่น, ท่านอย่าชอบใจการเหาะขึ้นไปในอากาศของเรา เพราะเหตุแห่งของเพียงเล็กน้อย,จงให้บาตรแก่เราเถิด.”

                    เศรษฐี. ผู้เจริญ ท่านต้องเหาะขึ้นไปทางอากาศแล้ว ถือเอาเถิด.

                    ลำดับนั้น นาฏบุตรกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกเจ้าจงหลีกไปๆ” กันพวกอันเตวาสิกออกไปแล้ว กล่าวว่า ” เราจักเหาะขึ้นไปในอากาศ” ดังนี้แล้วก็ยกมือและเท้าขึ้นข้างหนึ่ง. ทีนั้น พวกอันเตวาสิกกล่าวกับอาจารย์ว่า “ท่านอาจารย์ ท่านจะทำชื่ออะไรกันนั่น? ประโยชน์อะไรด้วยคุณที่ปกปิดไว้ อันท่านแสดงแก่มหาชน เพราะเหตุแห่งบาตรไม้นี้”  แล้วช่วยกันจับนาฏบุตรนั้นที่มือและเท้า ดึงมาให้ล้มลงบนแผ่นดิน. เขาบอกกะเศรษฐีว่า  “มหาเศรษฐี อันเตวาสิกเหล่านี้ ไม่ให้เหาะ, ท่านจงให้บาตรแก่เรา.”

                    เศรษฐี. ผู้เจริญ ท่านต้องเหาะขึ้นไปถือเอาเถิด.

                    พวกเดียรถีย์ แม้พยายามด้วยอาการอย่างนี้สิ้น ๖ วันแล้ว ยังไม่ได้บาตรนั้นเลย.

ชาวกรุงเข้าใจว่าไม่มีพระอรหันต์

                    ในวันที่ ๗ ในกาลที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระปิณโฑลภารทวาชะไปยืนบนหินดาดแห่งหนึ่งแล้วห่มจีวร ด้วยตั้งใจว่า “จักเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์” พวกนักเลงคุยกันว่า “ชาวเราเอ๋ย ในกาลก่อน ครูทั้ง ๖ กล่าวว่า  ‘พวกเราเป็นพระอรหันต์ในโลก,’  ก็เมื่อเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้ยกบาตรขึ้นไว้แล้วกล่าวว่า  ‘ถ้าว่า พระอรหันต์มีอยู่, จงมาทางอากาศแล้ว ถือเอาเถิด’  วันนี้เป็นวันที่ ๗, แม้สักคนหนึ่งชื่อว่าเหาะขึ้นไปในอากาศด้วยแสดงตนว่า ‘เราเป็นพระอรหันต์’ ก็ไม่มี; วันนี้พวกเรารู้ความที่พระอรหันต์ไม่มีในโลกแล้ว.”

                    ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ยินถ้อยคำนั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า “อาวุโส ภารทวาชะ ท่านได้ยินถ้อยคำของพวกนักเลงเหล่านี้ไหม? พวกนักเลงเหล่านี้ พูดเป็นทีว่าจะย่ำยีพระพุทธศาสนา; ก็ท่านมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก, ท่านจงไปเถิด จงมาทางอากาศแล้วถือเอาบาตรนั้น.”

                    ปิณโฑลภารทวาชะ. อาวุโส โมคคัลลานะ ท่านเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาสาวกผู้มีฤทธิ์, ท่านจงถือเอาบาตรนั้น; แต่เมื่อท่านไม่ถือเอา ผมจักถือเอา.

พระปิณโฑลภารทวาชะแสดงปาฏิหาริย์

                    เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านจงถือเอาเถิดผู้มีอายุ” ท่านปิณโฑลภารทวาชะก็เข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ออกแล้ว เอาปลายเท้าคีบหินดาดประมาณ ๑ คาวุต ให้ขึ้นไปในอากาศเหมือนปุยนุ่น แล้วหมุนเวียนไปในเบื้องบนพระนครราชคฤห์ ๗ ครั้ง. หินดาดนั้นปรากฏดังฝาละมีสำหรับปิดพระนครไว้ประมาณ ๓ คาวุต.  พวกชาวพระนครกลัว ร้องว่า “หินจะตกทับข้าพเจ้า” จึงทำเครื่องกั้นมีกระด้งเป็นต้นไว้บนกระหม่อม แล้วซุกซ่อนในที่นั้นๆ. ในวาระที่ ๗ พระเถระทำลายหินดาด แสดงตนแล้ว. มหาชนเห็นพระเถระแล้ว กล่าวว่า “ท่านปิณโฑลภารทวาชะผู้เจริญ ท่านจงจับหินของท่านไว้ให้มั่น, อย่าให้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดพินาศเสียเลย.”

                    พระเถระเอาปลายเท้าเหวี่ยงหินทิ้งไป. แผ่นหินนั้นไปตั้งอยู่ในที่เดิมนั่นเอง. พระเถระได้ยืนอยู่ในที่สุดแห่งเรือนของเศรษฐี. เศรษฐีเห็นท่านแล้ว หมอบลงแล้ว กราบเรียนว่า “ลงเถิด พระผู้เป็นเจ้า”  นิมนต์พระเถระผู้ลงจากอากาศให้นั่งแล้ว, ให้นำบาตรลง กระทำให้เต็มด้วยวัตถุอันมีรสหวาน ๔ อย่างแล้ว ได้ถวายแก่พระเถระ. พระเถระรับบาตรแล้วบ่ายหน้าสู่วิหารไปแล้ว.

                    ลำดับนั้น ชนเหล่าใดที่อยู่ในป่าบ้าง อยู่ในบ้านบ้าง ไม่เห็นปาฏิหาริย์ของพระเถระ, ชนเหล่านั้นประชุมกันแล้ววิงวอนพระเถระว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงปาฏิหาริย์แม้แก่พวกผม”  ดังนี้แล้วก็พากันติดตามพระเถระไป. พระเถระนั้น แสดงปาฏิหาริย์แก่ชนเหล่านั้นๆ พลางได้ไปยังพระวิหารแล้ว.

พระศาสดาทรงห้ามไม่ให้ภิกษุทำปาฏิหาริย์

                   พระศาสดา ทรงสดับเสียงมหาชนที่ติดตามพระเถระนั้นอื้ออึงอยู่จึงตรัสถามว่า “อานนท์ นั่นเสียงใคร?”  ทรงสดับว่า “พระเจ้าข้า พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปในอากาศแล้ว ถือเอาบาตรไม้จันทน์, นั่นเสียงในสำนักของท่าน” จึงรับสั่งให้เรียกพระปิณโฑลภารทวาชะมาตรัสถามว่า  “ได้ยินว่า เธอทำอย่างนั้นจริงหรือ ?”  เมื่อท่านกราบทูลว่า “จริง พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “ภารทวาชะ ทำไม เธอจึงทำอย่างนั้น ?” ทรงติเตียนพระเถระ  แล้วรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้น ให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่แล้ว รับสั่งให้ประทานแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่อันบดผสมยาตา แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลาย เพื่อต้องการไม่ให้ทำปาฏิหาริย์. ฝ่ายพวกเดียรถีย์ได้ยินว่า “ทราบว่า พระสมณโคดมให้ทำลายบาตรนั้นแล้ว ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อต้องการมิให้ทำปาฏิหาริย์” จึงเที่ยวบอกกันในถนนในพระนครว่า “สาวกทั้งหลายของพระสมณโคดม ไม่ก้าวล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต, ถึงพระสมณโคดมก็จักรักษาสิกขาบทที่ทรงบัญญัตินั้นเหมือนกัน, บัดนี้พวกเรา ได้โอกาสแล้ว”  แล้วกล่าวว่า “พวกเรารักษาคุณของตน จึงไม่แสดงคุณของตนแก่มหาชนเพราะเหตุแห่งบาตรไว้ในกาลก่อน, เหล่าสาวกของพระสมณโคดมแสดงคุณของตนแก่มหาชนเพราะเหตุแห่งบาตร, พระสมณโคดมรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้นแล้ว ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่เหล่าสาวก เพราะพระองค์เป็นบัณฑิต, บัดนี้ พวกเราจักทำปาฏิหาริย์กับพระสมณโคดมนั่นแล.”

พระศาสดาทรงประสงค์จะทำปาฏิหาริย์

                พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว เสด็จไปยังสำนักพระศาสดา กราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ได้ทราบว่าพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่เหล่าสาวก เพื่อต้องการไม่ให้ทำปาฏิหาริย์เสียแล้วหรือ?”

                พระศาสดา. ขอถวายพระพร มหาบพิตร.

                พระราชา. บัดนี้ พวกเดียรถีย์พากันกล่าวว่า ‘พวกเราจักทำปาฏิหาริย์กับด้วยพระองค์,’ บัดนี้ พระองค์จักทรงทำอย่างไร ?

                พระศาสดา. เมื่อเดียรถีย์เหล่านั้นกระทำ อาตมภาพก็จักกระทำ มหาบพิตร.

                พระราชา. พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ ?

                พระศาสดา. มหาบพิตร อาตมภาพมิได้บัญญัติสิกขาบทเพื่อตน, สิกขาบทนั้นนั่นแล อาตมภาพบัญญัติไว้เพื่อสาวกทั้งหลาย.

                 พระราชา.  สิกขาบท เป็นอันชื่อว่าอันพระองค์ทรงบัญญัติในสาวกทั้งหลายอื่น เว้นพระองค์เสียหรือ?  พระเจ้าข้า.

                 พระศาสดา. มหาบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักย้อนถามพระองค์นั่นแหละในเพราะเรื่องนี้, มหาบพิตร ก็พระอุทยานในแว่นแคว้นของพระองค์มีอยู่หรือ ?

                  พระราชา.  มี พระเจ้าข้า.

                   พระศาสดา.  มหาบพิตร ถ้าว่ามหาชนพึงบริโภคผลไม้ เป็นต้นว่า ผลมะม่วงในพระอุทยานของพระองค์, พระองค์พึงทรงทำอย่างไร แก่เขา ?

                   พระราชา.  พึงลงอาชญา พระเจ้าข้า.

                   พระศาสดา.  ก็พระองค์ย่อมได้เพื่อเสวยหรือ ?

                   พระราชา.  พระเจ้าข้า อาชญาไม่มีแก่หม่อมฉัน, หม่อมฉันย่อมได้เพื่อเสวยของๆ ตน.

                   พระศาสดา.  มหาบพิตร อาชญาแม้ของอาตมภาพย่อมแผ่ไปในแสนโกฏิจักรวาล เหมือนอาชญาของพระองค์ที่แผ่ไปในแว่นแคว้นประมาณ ๓๐๐ โยชน์, อาชญาไม่มีแก่พระองค์ผู้เสวยผลไม้ทั้งหลาย เป็นต้นว่าผลมะม่วงในพระอุทยานของพระองค์, แต่มีอยู่แก่ชนเหล่าอื่น, ขึ้นชื่อว่า การก้าวล่วงบัญญัติ คือ สิกขาบท ย่อมไม่มีแก่ตน, แต่ย่อมมีแก่สาวกเหล่าอื่น; อาตมภาพจึงจักทำปาฏิหาริย์.

                   พวกเดียรถีย์ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ปรึกษากันว่า “บัดนี้ พวกเราฉิบหายแล้ว, ได้ยินว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อเหล่าสาวกเท่านั้น, ไม่ทรงบัญญัติไว้เพื่อตน; ได้ยินว่า ท่านปรารถนาจะทำปาฏิหาริย์เองทีเดียว; พวกเราจักทำอย่างไรกันเล่า?”

                   พระราชาทูลถามพระศาสดาว่า “เมื่อไร พระองค์จักทรงทำปาฏิหาริย์ ? พระเจ้าข้า.”

                   พระศาสดา.  มหาบพิตร โดยล่วงไปอีก ๔ เดือน ต่อจากนี้ไป วันเพ็ญเดือน ๘ จักทำ.

                   พระราชา.  พระองค์จักทรงทำที่ไหน?  พระเจ้าข้า.

                   พระศาสดา. อาตมภาพจักอาศัยเมืองสาวัตถีทำ มหาบพิตร.

                   มีคำถามสอดเข้ามาว่า ” ก็ทำไม พระศาสดาจึงอ้างที่ไกลอย่างนี้ ?”

                    แก้ว่า  “เพราะที่นั้นเป็นสถานที่ทำมหาปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์; อีกอย่างหนึ่ง พระองค์อ้างที่ไกลทีเดียว แม้เพื่อประโยชน์จะให้มหาชนประชุมกัน.”

                    พวกเดียรถีย์ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว กล่าวว่า “ได้ยินว่า ต่อจากนี้โดยล่วงไป ๔ เดือน พระสมณโคดมจักทำปาฏิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี, บัดนี้  พวกเราไม่ละเทียว จักติดตามพระองค์ไป, มหาชนเห็นพวกเราแล้ว จักถามว่า “นี่อะไรกัน?”  ทีนั้นพวกเราจักบอกแก่เขาว่า “พวกเราพูดไว้แล้วว่า  ‘จักทำปาฏิหาริย์กับพระสมณโคดม,’  พระสมณโคดมนั้นย่อมหนีไป, พวกเราไม่ให้พระสมณโคดมนั้นหนีจึงติดตามไป.” พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ออกมาแล้ว. ถึงพวกเดียรถีย์ก็ออกมาข้างหลังของพระองค์นั่นแล อยู่ใกล้ที่ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจ, ในวันรุ่งขึ้นพวกเดียรถีย์บริโภคอาหารเช้าในที่ๆ ตนอยู่แล้ว.เดียรถีย์เหล่านั้น ถูกพวกมนุษย์ถามว่า “นี่อะไรกัน ?”  จึงบอกโดยนัยแห่งคำที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. ฝ่ายมหาชนคิดว่า “พวกเราจักดูปาฏิหาริย์” ดังนี้แล้วได้ติดตามไป. พระศาสดาบรรลุถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ.

เดียรถีย์เตรียมทำปาฏิหาริย์แข่ง

                   แม้พวกเดียรถีย์ ก็ไปกับพระองค์เหมือนกัน ชักชวนอุปัฏฐากได้ทรัพย์แสนหนึ่งแล้ว ให้ทำมณฑปด้วยเสาไม้ตะเคียน* (ขทิร ในที่บางแห่งแปลว่า ไม้สะแก.)  ให้มุงด้วยอุบลเขียว นั่งพูดกันว่า  “พวกเราจักทำปาฏิหาริย์ในที่นี้.”

                   ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า “พวกเดียรถีย์ให้ทำมณฑปแล้ว พระเจ้าข้า, แม้ข้าพระองค์จะให้ทำมณฑปเพื่อพระองค์.”

                   พระศาสดา.  อย่าเลยมหาบพิตร, ผู้ทำมณฑปของอาตมภาพมี.

                   พระราชา.  คนอื่นใครเล่า เว้นข้าพระองค์เสีย จักอาจทำได้ พระเจ้าข้า ?

                   พระศาสดา.  ท้าวสักกเทวราช.

                    พระราชา.  ก็พระองค์จักทรงทำปาฏิหาริย์ที่ไหนเล่า? พระเจ้าข้า.

                    พระศาสดา.  ที่ควงไม้คัณฑามพพฤกษ์  มหาบพิตร.

                    พวกเดียรถีย์ได้ยินว่า “ได้ข่าวว่า พระสมณโคดมจักทำปาฏิหาริย์ที่ควงไม้มะม่วง” จึงบอกพวกอุปัฏฐากของตน ให้ถอนต้นมะม่วงเล็กๆ โดยที่สุดแม้งอกในวันนั้น ในที่ระหว่างโยชน์หนึ่ง แล้วให้ทิ้งไปในป่า

                    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแสดงปาฏิหาริย์ที่ควงมะม่วง แต่ไม่มีต้นมะม่วงเสียแล้ว จะทำอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสสิ่งใดจะไม่ผิดเพี้ยน จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ต้นมะม่วงจะมีหรือไม่ ขอยกไปตอนหน้า

                    ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

บุพกรรมฝ่ายอกุศลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

                      หลังจากครั้งที่แล้วได้เล่าเรื่องบุพกรรมฝ่ยกุศลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว คราวนี้จะเล่าถึงบุพกรรมฝ่ายอกุศลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง เพื่อที่จะเป็นข้อเตือนใจว่า แม้จะเป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่สามารถพ้นจากกรรมที่เคยก่อไว้ได้ ไม่มีใครสามารถตัดกรรม พ้นจากกรรมที่เคยก่อไว้

บุพกรรมฝ่ายอกุศล.

            การทำทุกรกิริยา  ๑  การกล่าวโทษ  ๑  การด่าว่า  ๑  การกล่าวหา  ๑ 

            การถูกศิลากระทบ  ๑  การเสวยเวทนาจากสะเก็ดหิน  ๑

            การปล่อยช้างนาฬาคิรี  ๑  การถูกผ่าตัดด้วยศาสตรา  ๑ 

            การปวดศีรษะ  ๑  การกินข้าวแดง  ๑ 

            ความเจ็บปวดสาหัสที่กลางหลัง  ๑ การลงโลหิต  ๑ 

            เหล่านี้เป็นเหตุฝ่ายอกุศล.

๑. บุพกรรมที่ทำให้ทำทุกรกิริยา

              บุพกรรมที่ทำให้การทำทุกรกิริยาอยู่ถึง  ๖  พรรษา คือ

             ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต  พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพราหมณ์มาณพชื่อว่า โชติปาละ โดยที่เป็นชาติพราหมณ์จึงไม่เลื่อมใสในพระศาสนา เพราะวิบากของกรรมเก่าแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เขาได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ จึงกล่าวว่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ที่ไหน การตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง เพราะวิบากของกรรมนั้น พระโพธิสัตว์นั้นจึงได้เสวยทุกข์มีนรกเป็นต้นหลายร้อยชาติ 

              ก็ในกาลนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อ โชติปาละ ได้กล่าวกะพระกัสสปสุคตเจ้าว่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ไหน การตรัสรู้เป็นของได้ยากยิ่ง.

            เพราะวิบากของกรรมนั้น  เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมายอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง ๖ ปี จากนั้น จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ.

            เราไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุดโดยหนทางนั้น เราถูกกรรมเก่าห้ามไว้ จึงได้แสวงหาโดยทางผิด.

๒. บุพกรรมที่ทำให้ให้ถูกกล่าวตู่ (และด่า)

            ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลศูทร เป็นนักเลงชื่อ มุนาฬิ ผู้ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีความชำนาญอะไรอาศัยอยู่. ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า สุรภิ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากไปถึงที่ใกล้ของเขาด้วยกิจบางอย่าง. 

            เขาพอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเท่านั้น ได้ด่าว่าด้วยคำเป็นต้นว่า สมณะนี้ทุศีล มีธรรมลามก. 

            เพราะวิบากของอกุศลนั้น  เขาจึงได้เสวยทุกข์ในนรกเป็นต้น หลายพันปี ในอัตภาพครั้งสุดท้ายนี้ ในตอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในภพดุสิต พวกเดียรถีย์ปรากฏขึ้นก่อน เที่ยวแสดงทิฏฐิ ๖๒ หลอกลวงประชาชนอยู่นั้น หลังจากจุติจากดุสิตบุรี บังเกิดในสกุลศักยราช แล้วได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยลำดับ.

            พวกเดียรถีย์เสื่อมลาภสักการะ เสมือนหิ่งห้อยในตอนพระอาทิตย์ขึ้น จึงผูกความอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้าเที่ยวไปอยู่. 

            ในกาลนั้น อุบาสิกาของพวกเดียรถีย์เหล่านั้น ชื่อ นางจิญจมาณวิกา ถึงความเป็นผู้เลอเลิศด้วยรูปโฉม เห็นพวกเดียรถีย์เหล่านั้นนั่งอยู่อย่างนั้น จึงถามว่า “ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ท่านทั้งหลายจึงนั่งเป็นทุกข์ เสียใจอยู่อย่างนี้ ?” 

            พวกเดียรถีย์กล่าวว่า “น้องหญิง ก็เพราะเหตุไรเล่า เธอจึงได้เป็นผู้มีความขวนขวายน้อย.” 

            นางจิญจมาณวิกาถามว่า “มีเหตุอะไร ท่านผู้เจริญ.”  เดียรถีย์กล่าวว่า “ดูก่อนน้องหญิง จำเดิมแต่กาลที่พระสมณโคดมเกิดขึ้นมา พวกเราเสื่อมลาภสักการะหมด ชาวพระนครไม่สำคัญอะไรๆ พวกเรา.”

            นางจิญจมาณวิกาถามว่า “ในเรื่องนี้ ดิฉันควรจะทำอะไร.”  เดียรถีย์ตอบว่า “เธอควรจะยังโทษมิใช่คุณให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม.” 

            นางจิญจมาณวิกานั้นกล่าวว่า “ข้อนั้น ไม่เป็นการหนักใจสำหรับดิฉัน” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทำความอุตสาหะในการนั้น จึงไปยังพระเชตวันวิหารในเวลาวิกาล แล้วอยู่ในสำนักของพวกเดียรถีย์

            ครั้นตอนเช้า ในเวลาที่ชนชาวพระนครถือของหอมเป็นต้นไปเพื่อจะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงออกมา ทำทีเหมือนออกจากพระเชตวันวิหาร ถูกถามว่า นอนที่ไหน  จึงกล่าวว่า “ประโยชน์อะไรด้วยที่ที่เรานอนแก่พวกท่าน” ดังนี้แล้วก็หลีกไปเสีย. 

            เมื่อกาลเวลาดำเนินไปโดยลำดับ นางถูกถามแล้วกล่าวว่า “เรานอนในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดมแล้วออกมา” พวกปุถุชนผู้เขลาเชื่อดังนั้น บัณฑิตทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ไม่เชื่อ.

            วันหนึ่ง นางผูกท่อนไม้กลมไว้ที่ท้องแล้วนุ่งผ้าแดงทับไว้ แล้วไปกล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประทับนั่งเพื่อทรงแสดงธรรมแก่บริษัทพร้อมทั้งพระราชาอย่างนี้ว่า “พระสมณะผู้เจริญ ท่าน(มัวแต่) แสดงธรรม ไม่จัดแจงกระเทียมและพริกเป็นต้น เพื่อเราผู้มีครรภ์ทารกที่เกิดเพราะอาศัยท่าน.” 

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนน้องหญิง ท่านกับเราเท่านั้นย่อมรู้ภาวะอันจริงแท้.” 

            นางจิญจมาณวิกากล่าวว่า “อย่างนั้นทีเดียว เรากับท่าน ๒ คนเท่านั้น ย่อมรู้คราวที่เกี่ยวข้องด้วยเมถุน คนอื่นย่อมไม่รู้.”

            ขณะนั้น บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการเร่าร้อน. ท้าวสักกะทรงรำพึงอยู่ ทรงรู้เหตุนั้น จึงตรัสสั่งเทวบุตร ๒ องค์ว่า “บรรดาท่านทั้งสอง องค์หนึ่งนิรมิตเพศเป็นหนูกัดเครื่องผูกท่อนไม้กลมของนางให้ขาด องค์หนึ่งทำมณฑลของลมให้ตั้งขึ้น พัดผ้าที่นางห่มให้เวิกขึ้นเบื้องบน.”  เทวบุตรทั้งสองนั้นได้ไปกระทำอย่างนั้นแล้ว. ท่อนไม้กลมตกลง ทำลายหลังเท้าของนางแตก. 

            ปุถุชนทั้งหลายผู้ประชุมกันอยู่ในโรงธรรมสภา ทั้งหมดพากันกล่าวว่า  “เฮ้ย! นางโจรร้าย เจ้าได้ทำการกล่าวหาความเห็นปานนี้ แก่พระผู้เป็นเจ้าของโลกทั้ง ๓ ผู้เห็นปานนี้ แล้วต่างลุกขึ้นเอากำปั้นประหารคนละที นำออกไปจากที่ประชุม เมื่อนางล่วงพ้นไปจากทัสสนะคือการเห็นของพระผู้มีพระภาคเจ้า แผ่นดินได้ให้ช่อง.” 

            ขณะนั้น เปลวไฟจากอเวจีนรกตั้งขึ้น หุ้มห่อนางเหมือนหุ้มด้วยผ้ากัมพลแดงที่ตระกูลให้ แล้วซัดลงไปในอเวจีนรก. 

            พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีลาภสักการะอย่างล้นเหลือ ด้วยเหตุนั้น 

            พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงครอบงำสิ่งทั้งปวง มีสาวกชื่อว่านันทะ เรากล่าวตู่พระสาวกชื่อว่านันทะนั้น จึงได้ท่องเที่ยวไปในนรก สิ้นกาลนาน.”

            เราท่องเที่ยวไปในนรกตลอดกาลนานถึงหมื่นปี ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ได้รับการกล่าวตู่มากมาย.เพราะกรรมที่เหลือนั้น นางจิญจมาณวิกาได้กล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริงต่อหน้าหมู่ชน.

๓. บุพกรรมที่ถูกกล่าวตู่ (และด่าอีกครั้ง)

            ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดที่ไม่ปรากฏชื่อเสียง เป็นนักเลงชื่อว่า มุนาฬิ เพราะกำลังแรงที่คลุกคลีกับคนชั่วจึงได้ด่าพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า สุรภิ ว่า “ภิกษุนี้ทุศีล มีธรรมอันลามก.”

            เพราะวจีกรรมอันเป็นอกุศลนั้น พระโพธิสัตว์นั้นไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี ในอัตภาพครั้งสุดท้ายนี้ เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ด้วยกำลังแห่งความสำเร็จบารมี ๑๐ ได้เป็นผู้ถึงลาภอันเลิศและยศอันเลิศ. พวกเดียรถีย์กลับเกิดความอุตสาหะขึ้นอีก คิดกันว่า พวกเราจักยังโทษมิใช่ยศ ให้เกิดแก่พระสมณโคดมได้อย่างไรหนอ พากันนั่งเป็นทุกข์เสียใจ.

            ครั้งนั้น ปริพาชิกาผู้หนึ่งชื่อว่า สุนทรี  เข้าไปหาเดียรถีย์เหล่านั้นไหว้แล้วยืนอยู่ เห็นเดียรถีย์ทั้งหลายพากันนิ่งไม่พูดอะไร จึงถามว่า “ดิฉันมีโทษอะไรหรือ?”  พวกเดียรถีย์กล่าวว่า “พวกเราถูกพระสมณโคดมเบียดเบียนอยู่ ท่านกลับมีความขวนขวายน้อยอยู่  ข้อนี้เป็นโทษของท่าน.”

            นางสุนทรีกล่าวว่า “เมื่อเป็นอย่างนั้น ดิฉันจักกระทำอย่างไรในข้อนั้น.”

            เดียรถีย์ทั้งหลายกล่าวว่า “ท่านจักอาจหรือที่จะทำโทษมิใช่คุณให้เกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม.” 

            นางสุนทรีกล่าวว่า “จักอาจซิ พระผู้เป็นเจ้า” 

            ครั้นกล่าวแล้ว จำเดิมแต่นั้นมา ก็กล่าวแก่พวกคนที่ได้พบเห็นว่า ตนนอนในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดมแล้วจึงออกมา ดังนี้ 

โดยนัยดังกล่าวมาแล้วด่าบริภาษอยู่ ฝ่ายพวกเดียรถีย์ก็ด่าบริภาษอยู่ว่า ผู้เจริญทั้งหลาย จงเห็นกรรมของพระสมณโคดม. 

            สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ในชาติอื่นๆ ในครั้งก่อน เราเป็นนักเลงชื่อว่ามุนาฬิ ได้กล่าวตู่พระสุรภิปัจเจกพุทธเจ้าผู้ไม่ประทุษร้าย.

             เพราะวิบากของกรรมนั้น เราจึงท่องเที่ยวไปในนรกสิ้นกาลนาน เสวยทุกขเวทนาหลายพันปี. ด้วยเศษกรรมที่เหลือนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เราจึงได้รับการกล่าวตู่  เพราะเหตุแห่งนางสุนทรี.

๔. บุพกรรมที่ถูกกล่าวตู่ (และด่าอีกครั้ง)

              ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก คนเป็นอันมากสักการบูชา ได้บวชเป็นดาบส มีรากเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร สอนมนต์พวกมาณพจำนวนมาก สำเร็จการอยู่ในป่าหิมพานต์. ดาบสรูปหนึ่งได้อภิญญา ๕  และสมาบัติ ๘ ได้มายังสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น. พระโพธิสัตว์นั้นพอเห็นพระดาบสนั้นเท่านั้น ถูกความริษยาครอบงำ ได้ด่าว่าพระฤาษีผู้ไม่ประทุษร้ายนั้นว่า “ฤาษีนี้หลอกลวง  บริโภคกาม และบอกกะพวกศิษย์ของตนว่า ฤาษีนี้เป็นผู้ไม่มีอาจาระเห็นปานนี้.”  ฝ่ายศิษย์เหล่านั้นก็พากันด่า บริภาษอย่างนั้นเหมือนกัน. ด้วยวิบากของอกุศลกรรมนั้น พระโพธิสัตว์นั้นจึงได้เสวยทุกข์ในนรกอยู่พันปี ในอัตภาพหลังสุดนี้ ได้เป็นพระพุทธเจ้าถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศ ปรากฏดุจพระจันทร์เพ็ญในอากาศฉะนั้น.

            แม้ด้วยการด่าว่าถึงอย่างนั้น พวกเดียรถีย์ก็ยังไม่พอใจ ให้นางสุนทรีทำการด่าว่าอีก ให้เรียกพวกนักเลงสุรามาให้ค่าจ้างแล้วสั่งว่า “พวกท่านจงฆ่านางสุนทรีแล้วปิดด้วยขยะดอกไม้ในที่ใกล้ประตูพระเชตวัน” พวกนักเลงสุราเหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น แต่นั้น พวกเดียรถีย์จึงกราบทูลแก่พระราชาว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่พบเห็นนางสุนทรี.” 

            พระราชารับสั่งว่า “พวกท่านจงค้นดู” เดียรถีย์เหล่านั้นจึงเอามาจากที่ที่ตนให้โยนไว้แล้วยกขึ้นสู่เตียงน้อยแสดงแก่พระราชา แล้วเที่ยวโฆษณาโทษของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ในพระนครทั้งสิ้นว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายจงเห็นการกระทำของพระสมณโคดมและของพวกสาวก.”  แล้ววางนางสุนทรีไว้บนแคร่ในป่าช้าผีดิบ. 

            พระราชารับสั่งว่า “ท่านทั้งหลายจงค้นหาคนฆ่านางสุนทรี.”

            ครั้งนั้น พวกนักเลงดื่มสุราแล้วทวำการทะเลาะกันว่า “เจ้าฆ่านางสุนทรี  เจ้าฆ่า.” 

            ราชบุรุษทั้งหลาย จึงจับพวกนักเลงเหล่านั้นแสดงแก่พระราชา พระราชาตรัสถามว่า “แน่ะพนาย พวกเจ้าฆ่านางสุนทรีหรือ ?”

            นักเลงเหล่านั้นกราบทูลว่า  “พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ.” 

            พระราชาตรัสถามว่า  “พวกใครสั่ง ?”  นักเลงทูลว่า “พวกเดียรถีย์สั่ง  พระเจ้าข้า.” 

            พระราชาจึงให้นำพวกเดียรถีย์มาแล้วให้จองจำพันธนาการแล้วรับสั่งว่า  “แน่ะพนายพวกเจ้าจงไปป่าวร้องว่า เราทั้งหลายให้ฆ่านางสุนทรีเองแหละ โดยความจะให้เป็นโทษแก่พระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าและสาวกทั้งหลายของพระองค์ไม่ได้เป็นผู้กระทำ.” พวกเดียรถีย์ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว. ชาวพระนครทั้งสิ้นต่างเป็นผู้หมดความสงสัย. 

            พระราชาทรงให้ฆ่าพวกเดียรถีย์และพวกนักเลงแล้วให้ทิ้งไป.

            แต่นั้น ลาภสักการะเจริญพอกพูนแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยยิ่งกว่าประมาณ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “เราเป็นพราหมณ์เรียนจบแล้ว เป็นผู้อันมหาชนสักการะบูชา ได้สอนมนต์กะมาณพ ๕๐๐ คนในป่าใหญ่. พระฤาษีผู้กล้า สำเร็จอภิญญา ๕ มีฤิทธิ์มาก มาในที่นี้นั้น  และเราได้เห็นพระฤาษีนั้นมาแล้ว ได้กล่าวตู่ว่าท่านผู้ไม่ประทุษร้าย. แต่นั้น เราได้บอกกะศิษย์ทั้งหลายว่า ฤาษีนี้เป็นผู้บริโภคกาม แม้เมื่อเราบอกอยู่  มาณพทั้งหลายก็พลอยยินดีตาม. แต่นั้น มาณพทุกคนเที่ยวภิกขาไปทุกๆ ตระกูล ก็บอกกล่าวแก่มหาชนว่า ฤาษีนี้บริโภคกาม.

              เพราะวิบากของกรรมนั้น ภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้จึงได้รับการกล่าวตู่ด้วยกันทั้งหมด เพราะเหตุแห่งนางสุนทรี.”

๕. บุพกรรมที่ทำให้ห้อโลหิต

            ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์และน้องชายเป็นลูกพ่อเดียวกัน เมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว พี่น้องทั้งสองนั้น ทำการทะเลาะกัน เพราะอาศัยพวกทาส จึงได้คิดร้ายกันและกัน พระโพธิสัตว์กดทับน้อยชายไว้ด้วยความที่ตนเป็นผู้มีกำลัง แล้วกลิ้งหินทับลงเบื้องบนน้องชายนั้น. เพราะวิบากของกรรมนั้น พระโพธิสัตว์นั้นได้เสวยทุกข์ในนรกเป็นต้นหลายพันปี ในอัตภาพหลังสุดนี้ได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า.

            พระเทวทัตผู้เป็นพระมาตุลาของพระราหุลกุมาร ในชาติก่อนได้เป็นพ่อค้ากับพระโพธิสัตว์ ในครั้งเป็นพ่อค้าชื่อว่า เสริพาณิช พ่อค้าทั้งสองนั้นไปถึงปัฏฏนคาม บ้านอันตั้งอยู่ใกล้ท่าแห่งหนึ่ง จึงตกลงกันว่า ท่านจงถือเอาถนนสายหนึ่ง แม้เราก็จะถือเอาถนนสายหนึ่ง แล้วทั้งสองคนก็เข้าไป.  บรรดาคนทั้งสองนั้น ในถนนสายที่พระเทวทัตเข้าไปได้มีคน ๒ คนเท่านั้น คือภรรยาของเศรษฐีเก่าคนหนึ่ง หลานสาวคนหนึ่ง ถาดทองใบใหญ่ของคนทั้งสองนั้น ถูกสนิมจับ เป็นของที่เขาวางปนไว้ในระหว่างภาชนะ. ภรรยาของเศรษฐีเก่านั้นไม่รู้ว่าภาชนะทอง จึงกล่าวกะท่านเทวทัตนั้นว่า “ท่านจงเอาถาดใบนี้ไปแล้วจงให้เครื่องประดับมา.” เทวทัตนั้นจับถาดใบนั้นแล้วเอาเข็มขีดดู รู้ว่าเป็นถาดทอง แล้วคิดว่า เราจักให้นิดหน่อยแล้วถือเอา จึงไปเสีย.

            ลำดับนั้น หลานสาวเห็นพระโพธิสัตว์มายังที่ใกล้ประตู จึงกล่าวว่า “ข้าแต่แม่เจ้า ขอท่านจงให้เครื่องประดับ กัจฉปุฏะ แก่ดิฉัน.”  ภรรยาเศรษฐีเท่านั้นจึงให้เรียกพระโพธิสัตว์นั้นมา ให้นั่งลงแล้วจึงให้ภาชนะนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ท่านจงถือเอาภาชนะนี้แล้วจงให้เครื่องประดับกัจฉปุฏะแก่หลานสาวของข้าพเจ้า.  พระโพธิสัตว์จับภาชนะนั้น รู้ว่าเป็นภาชนะทอง และรู้ว่า นางถูกเทวทัตนั้นลวง จึงเก็บ ๘ กหาปณะไว้ในถุงเพื่อตน และให้สินค้าที่เหลือ ให้ประดับเครื่องประดับ กัจฉปุฏะ ที่มือของนางกุมาริกาแล้วก็ไป. พ่อค้านั้นหวนกลับมาถามอีก. ภรรยาเศรษฐีนั้นกล่าวว่า “นี่แน่ะพ่อ  ท่านไม่เอา บุตรของเราให้สิ่งนี้ๆ แล้วถือเอาถาดใบนั้นไปเสียแล้ว.”  พ่อค้านั้นพอได้ฟังดังนั้น มีหทัยเหมือนจะแตกออก จึงวิ่งติดตามไป. พระโพธิสัตว์ขึ้นเรือแล่นไปแล้ว. พ่อค้านั้นกล่าวว่า  “หยุด !  อย่าหนี  อย่าหนี”  แล้วได้ทำความปรารถนาว่า  เราพึงสามารถทำให้มันฉิบหายในภพที่เกิดแล้วๆ.

            ด้วยอำนาจความปรารถนา พ่อค้านั้นเบียดเบียนกันและกันหลายแสนชาติ ในอัตภาพนี้ บังเกิดในสักยตระกูล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ แล้วประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ได้ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับเจ้าอนุรุทธะเป็นต้น แล้วบวช เป็นผู้ได้ฌานปรากฏแล้ว ทูลขอพรพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ทั้งปวง จงสมาทานธุดงค์ ๑๓ มีเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรเป็นต้น  ภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นจงเป็นภาระของข้าพระองค์.”

            พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต พระเทวทันผูกเวร จึงเสื่อมจากฌาน ต้องการจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้า วันหนึ่งยืนอยู่เบื้องบนพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนอยู่ที่เชิงเขาคิชฌกูฏ กลิ้งยอดเขาลงมา ด้วยอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ยอดเขายอดอื่นรับเอายอดเขานั้นที่กำลังตกลงมา. สะเก็ดหินที่ตั้งขึ้นเพราะยอดเขาเหล่านั้นกระทบกัน  ปลิวมากระทบหลังพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า. 

            ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “เมื่อชาติก่อน เราฆ่าน้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์ เราใส่ลงในซอกหิน และบดขยี้ด้วยหิน เพราะวิบากของกรรมนั้น พระเทวทัตจึงกลิ้งหินก้อนหินบดขยี้นิ้วหัวแม่เท้าของเรา.

๖. บุพกรรมที่ทำให้นายขมังธนูพยามฆ่า

            ได้ยินว่า ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลหนึ่ง ในเวลาเป็นเด็ก กำลังเล่นอยู่ที่ถนนใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในถนนคิดว่า สมณะโล้นนี้จะไปไหน จึงถือเอาสะเก็ดหินขว้างไปที่หลังเท้าของท่าน. หนังหลังเท้าขาด โลหิตไหลออก. เพราะกรรมอันลามกนั้น  พระโพธิสัตว์นั้นได้เสวยทุกข์อย่างมหันต์ในนรกหลายพันปี แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้เกิดการห้อพระโลหิตขึ้น เพราะสะเก็ดหินกระทบที่หลังพระบาท ด้วยอำนาจกรรมเก่า. 

            ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า “ในกาลก่อน เราเป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในหนทาง จึงขว้างสะเก็ดหินใส่.เพราะวิบากของกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ พระเทวทัตจึงประกอบนายขมังธนูเพื่อฆ่าเรา.”

๗. บุพกรรมที่ทำให้ถูกช้างนาฬาคิรีทำร้าย

            ช้างธนปาลกะที่เขาส่งไปเพื่อต้องการให้ฆ่า ชื่อว่า ช้างนาฬาคิรี.

            ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นคนเลี้ยงช้างขึ้นช้างเที่ยวไปอยู่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในหนทางใหญ่ คิดว่า คนหัวโล้นมาจากไหน เป็นผู้มีจิตถูกโทสะกระทบแล้ว เกิดเป็นดุจตะปูตรึงใจ ได้ทำช้างให้ขัดเคือง. 

            ด้วยกรรมนั้น พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยทุกข์ในอบายหลายพันปี ในอัตภาพหลังสุดได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า. พระเทวทัตกระทำพระอชาตศัตรูให้เป็นสหายแล้วให้สัญญากันว่า มหาบพิตร พระองค์ปลงพระชนม์พระบิดาแล้วจงเป็นพระราชา อาตมภาพฆ่าพระพุทธเจ้าแล้วจักเป็นพระพุทธเจ้า  ดังนี้ 

            อยู่มาวันหนึ่ง ไปยังโรงช้างตามที่พระราชาทรงอนุญาต แล้วสั่งคนเลี้ยงช้างว่า “พรุ่งนี้ ท่านจงให้ช้างนาฬาคิรีดื่มเหล้า ๑๖ หม้อ แล้วจงปล่อยไปในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต.”

            พระนครทั้งสิ้นได้มีเสียงเอิกเกริกมากมาย. ชนทั้งหลายกล่าวกันว่า เราจักดูการต่อยุทธ์ของนาคคือช้าง กับนาคคือพระพุทธเจ้า ดังนี้แล้วพากันผูกเตียงและเตียงซ้อน ในถนนหลวง จากด้านทั้งสองแล้วประชุมกันแต่เช้าตรู่.

            ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระแล้ว อันหมู่ภิกษุห้อมล้อมเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์. 

            ขณะนั้น พวกคนเลี้ยงช้างปล่อยช้างนาฬาคิรี โดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ช้างนาฬาคิรีทำลายถนนและทางสี่แพร่งเป็นต้นเดินมา 

            ครั้งนั้น หญิงผู้หนึ่งพาเด็กเดินข้ามถนน ช้างเห็นหญิงนั้นจึงไล่ติดตาม. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “นี่แน่ะนาฬาคิรี เธอถูกเขาส่งมาเพื่อจะฆ่าหญิงนั้นก็หามิได้ เธอจงมาทางนี้.”

            ช้างนั้นได้ฟังเสียงนั้นแล้ว ก็วิ่งบ่ายหน้ามุ่งไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า.

            พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่เมตตาอันควรแก่การแผ่ในจักรวาล อันหาประมาณมิได้ ในสัตว์อันหาที่สุดมิได้ ไปในช้างนาฬาคิรีตัวเดียวเท่านั้น. ช้างนาฬาคิรีนั้นอันพระเมตตาของพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกต้องแล้ว กลายเป็นช้างที่ไม่มีภัย หมอบลงแทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางพระหัตถ์ลงบนกระหม่อมของช้างนาฬาคิรีนั้น. 

            ครั้งนั้นเทวดาและพรหมเป็นต้นเกิดจิตอัศจรรย์ไม่เคยเป็นจึงพากันบูชาด้วยดอกไม้และเกสรดอกไม้เป็นต้น ในพระนครทั้งสิ้น ได้มีกองทรัพย์ประมาณถึงเข่า. พระราชารับสั่งให้เที่ยวตีกลองป่าวร้องทรัพย์ที่ประตูด้านทิศตะวันตกจงเป็นของชาวพระนคร ทรัพย์ที่ประตูด้านทิศตะวันออกจงนำเข้าท้องพระคลังหลวง.  คนทั้งปวงกระทำอย่างนั้นแล้ว.

            ในครั้งนั้นช้างนาฬาคิรีได้มีชื่อว่า ธนบาล. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปยังพระเวฬุวนาราม. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ในกาลก่อน เราได้เป็นนายควาญช้าง ได้ทำช้างให้โกรธ พระปัจเจกมีนีผู้สูงสุด ผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่นั้น. เพราะวิบากกรรมนั้น ช้างนาฬาคิรีตัวดุร้ายหมุนเข้ามาประจัญในบุรีอันประเสริฐ ชื่อว่า คิริพพชะ คือกรุงราชคฤห์.”

๘. บุพกรรมที่ทำให้ถูกผ่าตัดด้วยศาสตรา

            การผ่าฝีด้วยศาสตรา คือ ตัดด้วยผึ่ง ด้วยศาสตรา ชื่อว่า สัตถัจเฉทะ. 

            ได้ยินว่า ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์ได้เป็นพระราชาในปัจจันตประเทศ พระโพธิสัตว์นั้นเป็นนักเลง ด้วยอำนาจการคลุกคลีกับคนชั่วและด้วยอำนาจการอยู่ในปัจจันตประเทศ เป็นคนหยาบช้า 

            อยู่มาวันหนึ่ง ถือมีดเดินเท้าเปล่า เที่ยวไปในเมือง ได้เอามีดฆ่าฟันคนผู้ไม่มีความผิดได้ไปแล้ว. ด้วยวิบากของกรรมอันลามกนั้น พระโพธิสัตว์นั้นไหม้ในนรกหลายพันปี เสวยทุกข์ในทุคติ มีสัตว์เดียรัจฉานเป็นต้น ด้วยวิบากที่เหลือ ในอัตภาพหลังสุดแม้ได้เป็นพระพุทธเจ้า หนังก็ได้เกิดห้อพระโลหิตขึ้น เพราะก้อนหินที่พระเทวทัตกลิ้งใส่กระทบเอา โดยนัยดังกล่าวในหนหลัง. หมอชีวกผ่าหนังที่บวมขึ้นนั้นด้วยจิตเมตตา. การทำพระโลหิตให้ห้อขึ้นของพระเทวทัตผู้มีจิตเป็นข้าศึก ได้เป็นอนันตริยกรรม.การผ่าหนังที่บวมขึ้นของหมอชีวกผู้มีจิตเมตตา ได้เป็นบุญอย่างเดียว.  ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “เราเป็นคนเดินเท้า ฆ่าคนทั้งหลายด้วยหอก ด้วยวิบากของกรรมนั้น เราถูกไฟไหม้อยู่ในนรกอย่างรุนแรง.ด้วยเศษของกรรมนั้น  มาบัดนี้เขาจึงตัดหนังที่เท้าของเราเสียสิ้น  เพราะยังไม่หมดกรรม.”

๙. กรรมที่ทำให้ปวดศีรษะ

            อาพาธที่ศีรษะ คือเวทนาที่ศีรษะ ชื่อว่า สีสทุกขะ ทุกข์ที่ศีรษะ.

            ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นชาวประมง ในหมู่บ้านชาวประมง. 

            วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์นั้นกับพวกบุรุษชาวประมง ไปยังที่ที่ฆ่าปลา เห็นปลาทั้งหลายตาย ได้ทำโสมนัสให้เกิดขึ้นในข้อที่ปลาตายนั้น แม้บุรุษชาวประมงที่ไปด้วยกัน ก็ทำความโสมนัสให้เกิดขึ้นอย่างนั้นเหมือนกัน. ด้วยอกุศลกรรมนั้น พระโพธิสัตว์ได้เสวยทุกข์ในอบายทั้ง ๔ ในอัตภาพหลังสุดนี้ ได้บังเกิดในตระกูลศากยราช พร้อมกับบุรุษเหล่านั้น แม้จะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าโดยลำดับแล้ว ก็ยังได้เสวยความเจ็บป่วยที่ศีรษะด้วยตนเอง และเจ้าศากยะเหล่านั้น ถึงความพินาศกันหมดในสงครามของเจ้าวิฑูฑภะ โดยนัยดังกล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท. ด้วยเหตุนั้น  ท่านจึงกล่าวว่า “เราเป็นลูกชาวประมงในหมู่บ้านชาวประมง เห็นปลาทั้งหลายถูกฆ่า ได้ยังความโสมนัสดีใจให้เกิดขึ้น. เพราะวิบากของกรรมนั้น  ความทุกข์ที่ศีรษะได้มีแก่เราแล้ว ในคราวที่เจ้าวิฑูฑภะฆ่าสัตว์ทั้งหมด (คือเจ้าศากยะ)แล้ว.”

 ๑๐. กรรมที่ทำให้เสวยข้าวแดง

            การกินข้าวสารแห่งข้าวแดงใสเมืองเวสาลี ชื่อว่า ยวขาทนะ การกินข้าวแดง. ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลหนึ่ง เพราะอำนาจชาติและเพราะความเป็นอันธพาล เห็นสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าผุสสะ ฉันข้าวน้ำอันอร่อย  และโภชนะแห่งข้าวสาลีเป็นต้น  จึงด่าว่า “เฮ้ย !  พวกสมณะโล้น  พวกท่านจงกินข้าวแดงเถอะ อย่ากินโภชนะแห่งข้าวสาลีเลย. เพราะวิบากแห่งอกุศลกรรมนั้น พระโพธิสัตว์จึงเสวยทุกข์อยู่ในอบายทั้ง ๔  หลายพันปี  ในอัตตภาพหลังสุดนี้ ถึงความเป็นพระพุทธเจ้าโดยลำดับ  เมื่อทรงกระทำความอนุเคราะห์ชาวโลก เสด็จเที่ยวไปในคาม นิคม และราชธานีทั้งหลาย.

            สมัยหนึ่ง เสด็จถึงโคนไม้สะเดาอันสมบูรณ์ด้วยกิ่งและค่าคบ ณ  ที่ใกล้เวรัญชพราหมณคาม. เวรัญชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  เมื่อไม่อาจเอาชนะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โดยเหตุหลายประการ จึงเป็นพระโสดาบันแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การเสด็จเข้าจำพรรษาในที่นี้แหละย่อมควร.” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำนิมนต์โดยดุษณีภาพ.

            ครั้นจำเดิมแต่วันรุ่งขึ้นไป มารผู้มีบาปได้กระทำการดลใจชาวบ้านเวรัญชพราหมณ์คามทั้งสิ้น ไม่ได้มีแม้แต่คนเดียวผู้จะถวายภิกษาสักทัพพีหนึ่ง แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จเข้าไปบิณฑบาต เพราะเนื่องด้วยมารดลใจ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีบาตรเปล่า อันภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมเสด็จกลับมา. 

             เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเสด็จกลับมาอย่างนั้น  พวกพ่อค้าม้าที่อยู่ในที่นั้นนั่นแหละ ได้ถวายทานในวันนั้น จำเดิมแต่วันนั้นไปได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุ  ๕๐๐  เป็นบริวาร  แล้วทำการแบ่งจากอาหารของม้า ๕๐๐  ตัว เอามาซ้อมเป็นข้าวแดง แล้วใส่ลงในบาตรของภิกษุทั้งหลาย.  เทวดาในพ้นจักรวาลแห่งจักรวาลทั้งสิ้น พากันใส่ทิพโอชะเหมือนในวันที่นางสุชาดาหุงข้าวปายาส. 

            พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยแล้ว พระองค์เสวยข้าวแดงตลอดไตรมาส ด้วยประการอย่างนี้ เมื่อล่วงไป ๓ เดือน การดลใจของมารก็หายไป ในวันปวารณา เวรัญชพราหมณ์ระลึกขึ้นได้ถึงความสลดใจอย่างใหญ่หลวง จึงถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ถวายบังคมแล้วขอให้ทรงอดโทษ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า “เราได้บริภาษพระสาวกทั้งหลาย ในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ผุสสะ ว่า พวกท่านจงเคี้ยว จงกินแต่ข้าวแดง อย่ากินข้าวสาลีเลย”  ด้วยวิบากของกรรมนั้น เราจึงได้เคี้ยวกินข้าวแดงตลอดไตรมาส เพราะว่า ในคราวนั้น  เราอันพราหมณ์นิมนต์แล้ว จึงได้อยู่ในบ้านเวรัญชา.

๑๑. บุพกรรมที่ทำให้ปวดหลัง

            ได้ยินว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลคหบดี สมบูรณ์ด้วยกำลัง ได้เป็นคนค่อนข้างเตี้ย. 

            สมัยนั้น นักต่อสู้ด้วยการต่อสู้ด้วยมวยปล้ำคนหนึ่ง เมื่อการต่อสู้ด้วยมวยปล้ำกำลังดำเนินไปอยู่ในคามนิคม  และราชธานีทั้งหลายในชมพูทวีปทั้งสิ้น ได้ทำพวกบุรุษล้มลง ได้รับชัยชนะ มาถึงเมืองอันเป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์เข้าโดยลำดับ  ได้ทำพวกคนในเมืองแม้นั้นให้ล้มลงแล้ว  เริ่มจะไป.  คราวนั้น  พระโพธิสัตว์คิดว่า ผู้นี้ได้รับชัยชนะในที่เป็นที่อยู่ของเราแล้วก็จะไป  จึงมายังบริเวณพระนครในที่นั้น  ปรบมือแล้วกล่าวว่า  ท่านจงมา  จงต่อสู้กับเราแล้วค่อยไป.  นักมวยปล้ำนั้นหัวเราะแล้วคิดว่า  พวกบุรุษใหญ่โตเรายังทำให้ล้มได้  บุรุษผู้นี้เป็นคนเตี้ยมีธาตุเป็นคนเตี้ย  ย่อมไม่เพียงพอแม้แก่มือข้างเดียว  จึงปรบมือบันลือแล้วเดินมา. 

            คนทั้งสองนั้นจับมือกันและกัน  พระโพธิสัตว์ยกนักมวยปล้ำคนนั้นขึ้นแล้วหมุนในอากาศ  เมื่อจะให้ตกลงบนภาคพื้น  ได้ทำลายกระดูกไหล่แล้วให้ล้มลง.  ชาวพระนครทั้งสิ้นทำการโห่ร้อง  ปรบมือบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยผ้าและอาภรณ์เป็นต้น.  พระโพธิสัตว์ให้นักต่อสู้ด้วยมวยปล้ำนั้นตรง ๆ กระทำกระดูกไหล่ให้ตรงแล้วกล่าวว่า  ท่านจงไปตั้งแต่นี้ไปท่านจงอย่ากระทำกรรมเห็นปานนี้  แล้วส่งไป. 

            ด้วยวิบากของกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์ได้เสวยทุกข์ที่ร่างกายและศีรษะเป็นต้น  ในภพที่เกิดแล้ว ๆ ในอัตภาพหลังสุด  แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ได้เสวยทุกข์มีการเสียดแทงที่หลังเป็นต้น. 

            เพราะฉะนั้น  เมื่อความทุกข์ที่เบื้องพระปฤษฎางค์เกิดขึ้นในกาลบางคราว  พระองค์จึงตรัสกะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะว่า “จำเดิมแต่นี้ไป  พวกเธอจงแสดงธรรม” แล้วพระองค์ทรงลาดสุคตจีวรแล้วบรรทม.  ขึ้นชื่อว่ากรรมเก่า  แม้พระพุทธเจ้าก็หนีไม่พ้นไปได้. 

            สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “เมื่อการปล้ำกันดำเนินไปอยู่  เราได้เบียดเบียนบุตรนักมวยปล้ำ (ให้ลำบาก)  ด้วยวิบากของกรรมนั้น  ความทุกข์ที่หลัง  (ปวดหลัง) จึงได้มีแก่เรา.

๑๒. บุพกรรมที่ทำให้ถ่ายด้วยการลงพระโลหิต

            การถ่ายด้วยการลงพระโลหิต  ชื่อว่า  อติสาระ  โรคบิด. 

            ได้ยินว่าในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลคหบดี เลี้ยงชีพด้วยเวชกรรม.  พระโพธิสัตว์นั้น  เมื่อจะเยียวยาบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งผู้ถูกโรคครอบงำจึงปรุงยาแล้วเยียวยา  อาศัยความประมาทในการให้ไทยธรรมของบุตรเศรษฐีนั้น  จึงให้โอสถอีกขนานหนึ่ง  ได้กระทำการถ่ายโดยการสำรอกออก  เศรษฐีได้ให้ทรัพย์เป็นอันมาก.  ด้วยวิบากของกรรมนั้น  พระโพธิสัตว์จึงได้ถูกอาพาธด้วยโรคลงโลหิตครอบงำในภพที่เกิดแล้ว ๆ ในอัตภาพหลังสุดแม้นี้  ในปรินิพพานสมัย  จึงได้มีการถ่ายด้วยการลงพระโลหิต  ในขณะที่เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะกัมมารบุตรปรุงถวาย  พร้อมกับพระกระยาหารอันมีทิพโอชะที่เทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นใส่ลงไว้.  กำลังช้างแสนโกฏิเชือก  ได้ถึงความสิ้นไป. 

            ในวันเพ็ญเดือน  ๖  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินไปเพื่อต้องการปรินิพพานในเมืองกุสินารา  ประทับนั่งในที่หลายแห่ง ระหายน้ำทรงดื่มน้ำ  ทรงถึงเมืองกุสินาราด้วยความลำบากอย่างมหันต์  แล้วเสด็จปรินิพพานในเวลาปัจจุบันสมัยใกล้รุ่ง.   แม้พระผู้เป็นเจ้าของใครโลกเห็นปานนี้  กรรมเก่าก็ไม่ละเว้น.  ด้วยเหตุนั้น  ท่านจึงกล่าวว่า

                        เราเป็นหมอรักษาโรค  ได้ถ่ายยาบุตรของเศรษฐี   ด้วยวิบากของกรรมนั้น  โรคปักขันทิกาพาธจึงมีแก่เรา.

๑๓. บุพกรรมที่ทำให้กระหายน้ำ

            พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ในกาลก่อน เราเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยงเห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่นมัว จึงห้ามมันด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ (แม้) เราจะกระหายน้ำก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามความปรารถนา ความว่า

            หลังจากพระผู้มีพระภาคทรงพระปรีชาเสวย  ภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ทรงพระประชวรอย่างหนัก ใกล้จะนิพพานได้ตรัสว่าเราจะไปยังเมืองกุสินารา ดังนี้ ฯ 

            ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะจากหนทาง แล้วเสด็จเข้าไป  ยังโคนไม้ต้นหนึ่ง รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิ ซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนั่ง” ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสแล้วปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่พระอานนท์ปูถวายแล้ว

            ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว จึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เรากระหาย จักดื่มน้ำ” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำกกุธานทีนี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว  มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ และจักทรงสรงสนานพระองค์”

            แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำดื่ม มาให้เรา เราระหาย จัดดื่มน้ำ”

            แม้ครั้งที่สองท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ  ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อยถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ …

            แม้ครั้งที่สาม  พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ” ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค  แล้วถือบาตรไปยังแม่น้ำนั้น

            ครั้งนั้น แม่น้ำนั้นถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัวไหลไปอยู่ เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ก็ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวไหลไปอยู่

            ท่านพระอานนท์ ได้มีความดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอเหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว ความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก แม่น้ำนี้ถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อเราเข้าไปใกล้กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ ฯ ขอพระผู้มีพระภาค  จงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคตจงเสวยน้ำเถิด ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยน้ำแล้ว ฯ

             ทั้งหมดนี้เป็นบุพกรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเห็นว่าแม้จะสำเร็จเป็นมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล พระผู้มีพระภาคก็ยังอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม มิอาจหลีกหนีผลแห่งกรรมเก่าไปได้ แม้พระองค์จะมีพุทธานุภาพมากก็ไม่สามารถตัดกรรมได้ แต่ชาวพุทธปัจจุบันกลับแสวงหาหนทางตัดกรรม เชื่อว่าสามารถหลีกหนีผลแห่งกรรมได้

             ช่วงนี้อยู่ในช่วงเข้าพรรษา ออกพรรษาก็จะมีประเพณีตักบาตรเทโวกัน คราวหน้าจะเล่าเรื่องราวเกียวกับพุทธปาฏิหาริย์ ที่มาแห่งประเพณีตักบาตรเทโวกัน

               ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่าน

บุพกรรมของพระผู้มีภาคเจ้า กรรมในอดีตของพระพุทธเจ้า

                หลังจากที่เรื่องราวพุทธประวัติผ่านไปแล้ว คงจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีเรื่องราวมากมาย มีทั้งเรื่องพุทธปาฏิหาริย์ เรื่องที่พระองค์ทรงพบกับความลำบากยากเข็ญ ทั้งการบำเพ็ญทุกขรกริยากว่าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือในช่วงที่ใกล้ปรินิพพานที่ต้องพบกับทุกขเวทนามากมาย จนอาจจะทำให้หลายคนสงสัยว่า กว่าจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องลำบากขนาดนี้ทุกพระองค์หรือไม่ คำตอบคือไม่เหมือนกัน เช่น พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน พระโกนาคมสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ เดือน พระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม พระเวสสภูสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ เดือน พระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือน เป็นต้น แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศรีศากยมุนี โคดม ต้องใช้ระยะเวลาบำเพ็ญเพียรถึง ๖ ปี เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ลองศึกษาบุพกรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัน                 

                    พระผู้มีพระภาคผู้เป็นนายกของโลก แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมากประทับนั่งอยู่ที่พื้นหินอันเป็นรัมณียสถานโชติช่วงด้วยแก้วต่างๆ ในละแวกป่าอันมีกลิ่นหอมต่างๆ ใกล้สระอโนดาต ตรัสชี้แจงบุพกรรมทั้งหลายของพระองค์ ณ ที่นั้นว่า

                    บุพกรรมฝ่ายกุศล

                    การถวายผ้าเก่า

                    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังกรรมที่เราทำแล้วของเรา เราเห็นภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่งแล้วได้ถวายผ้าเก่า เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า

                   ในกาลนั้น ผลแห่งกรรม คือการถวายผ้าเก่า ย่อมอำนวยผลให้เป็นพระพุทธเจ้า.

                   ก็เพราะเหตุที่เมื่อบุคคลปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า

                   ความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่จะสำเร็จได้  ก็ด้วยธรรม ๘  ประการ คือ

                   ความเป็นมนุษย์  ๑  ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ต้องเป็นเพศบุรุษ)  ๑    เหตุ (มีอุปนิสสัยบรรลุมรรคผลได้)  ๑   การได้เห็นพระศาสดา (พบพระพุทธเจ้าขณะที่มีพระชนม์อยู่) ๑   การได้บรรพชา (ได้บวชเป็นดาบสหรือภิกษุอยู่)  ๑   ความสมบูรณ์ด้วยคุณ (ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕) ๑   การกระทำอันยิ่งใหญ่ (สละชีวิตแก่พระพุทธเจ้าได้) ๑   ความเป็นผู้มีฉันทะ (พอใจ อุตสาหะ บำเพ็ญพุทธการกธรรม) ๑.

                   พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรม  อธิษฐานข้อวัตรให้ยิ่งยวดขึ้นไป  เพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศให้บริบูรณ์  ตราบจนมาถึงอัตภาพที่เป็นพระเวสสันดร  อันเป็นพระชาติสุดท้ายของการบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ทำให้มหาปฐพีแม้ไม่มีจิตก็ยังไหวถึง ๗ ครั้ง   และจุติจากพระเวสสันดร บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

                   บุพกรรมที่ได้ถอนหญ้าและอื่นๆลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า

                  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เรื่องเคยมีมาแล้วได้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า สังขะ  ในเมืองตักกสิลา มาณพชื่อว่า สุสิมะ  ที่เป็นบุตรของพราหมณ์นั้นมีอายุราว  ๑๖  ปี 

                  วันหนึ่งได้เข้าไปหาบิดา ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. บิดาพูดกับบุตรนั้นว่า พ่อสุสิมะ อะไรกัน. 

                  บุตรนั้นพูดว่า คุณพ่อครับ ผมต้องการจะไปศึกษาศิลปวิชาที่เมืองพาราณสี.

                  บิดาพูดว่า “ลูกสุสิมะ ถ้าอย่างนั้น (เจ้าจงไปเถิด) เพื่อนของพ่อเป็นพราหมณ์ชื่อโน้น เจ้าไปยังสำนักของพราหมณ์นั้นแล้วจงเรียนวิชาเถิด”ดังนี้ แล้วมอบทรัพย์ให้พันกหาปณะ สุสิมะมาณพนั้นรับทรัพย์ ๑ พันกหาปณะนั้นแล้ว ไหว้อำลามารดาบิดา ไปสู่เมืองพาราณสีโดยลำดับ เข้าไปหาอาจารย์ด้วยวิธีประกอบด้วยมรรยาทเรียบร้อย ไหว้แล้ว แนะนำตน อาจารย์ทราบว่าเด็กหนุ่มนี้เป็นบุตรเพื่อนของเรา จึงรับมาณพ (นั้น) แล้วได้กระทำการต้อนรับทุกอย่าง.

                  มาณพนั้นบรรเทาความเมื่อยล้าจากการเดินทางไกล (พักผ่อน) แล้วได้มอบทรัพย์ ๑ พันกหาปณะนั้นไว้ที่ใกล้เท้าอาจารย์ ขอโอกาสเรียนศิลปวิทยา อาจารย์ให้โอกาสแล้วก็ให้ศึกษา มาณพนั้นเรียนได้ไวด้วย เรียนได้มากด้วยและจดจำสิ่งที่เรียนไว้แล้วๆ ไม่ลืม เหมือนน้ำมันที่ใส่ไว้ในภาชนะทองฉะนั้นได้เรียนศิลปวิทยา ซึ่งคนทั่วไปใช้เวลาเรียน ๑๒ ปี(โดยใช้เวลาเรียน) เพียง ๒-๓ เดือนเท่านั้น เขาเมื่อจะกระทำการสาธยาย ย่อมเห็นเบื้องต้น และท่ามกลางของศิลปะนั้นได้ แต่ไม่เห็นที่สุด. 

                  ครั้งนั้นเขาจึงเข้าไปหาอาจารย์แล้วเรียนว่า กระผมย่อมเห็นเบื้องต้นและท่ามกลางเท่านั้นของศิลปะนั้น แต่ไม่เห็นที่สุด. 

                  อาจารย์กล่าวว่า  ดูก่อนพ่อ  แม้เราเองก็ไม่เห็นเหมือนกัน.

                  มาณพจึงเรียนถามว่า  ข้าแต่ท่านอาจารย์  เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าย่อมทราบที่สุดแห่งศิลปะนี้ได้. 

                  อาจารย์ตอบว่า  ดูก่อนพ่อ  ที่ป่าอิสิปตนะมีฤาษีทั้งหลายอยู่ ฤาษีเหล่านั้นพึงทราบได้. 

                  มาณพกล่าวว่า  ท่านอาจารย์กระผมเข้าไปหาฤาษีเหล่านั้น แล้วจักไต่ถาม. 

                 อาจารย์ตอบว่า  เจ้าจงถามตามสบายเถิดพ่อ.

                 มาณพนั้นไปยังป่าอิสิปตนะ เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วเรียนถามว่า ท่านทั้งหลายทราบเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด (ของศิลปะ) หรือ.

                พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตอบว่า 

                ดูก่อนอาวุโส ใช่แล้ว พวกเราทราบ.

                มาณพเรียนว่า  ท่านทั้งหลายจะให้กระผมศึกษาบ้างได้ไหม 

                พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตอบว่า 

               อาวุโส  ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงบวช  (เสียก่อน)  ด้วยว่าผู้ที่ไม่บวชไม่อาจศึกษาได้. 

               มาณพเรียนว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ดีละ ท่านทั้งหลายจงให้กระผมบวช  ท่านทั้งหลายกระทำสิ่งที่ท่านทั้งหลายปรารถนาแล้วจงให้กระผมทราบที่สุดแห่งศิลปะเถิด.

              พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้มาณพนั้นบวชแล้ว  ก็ไม่สามารถที่จะสั่งสอนในกัมมัฏฐานได้  พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น  ให้ศึกษาอภิสมาจาริกวัตร  โดยนัยเป็นต้นว่า  ท่านพึงนุ่งอย่างนี้  ท่านพึงห่มอย่างนี้ ก็สุสิมะนั้นศึกษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนะนั้น  ได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณโดยไม่นานเลย  เพราะ(ความที่ตน)  สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย  ท่านจึงได้ปรากฏในเมืองพาราณสีทั้งสิ้นว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะเกิดขึ้นแล้ว ท่านถึงความเลิศด้วยลาภ  เลิศด้วยยส  มีบริวารพรั่งพร้อม  พระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะนั้น  ไม่นานเลยก็ปรินิพพาน เพราะท่านได้ทำกรรมที่เป็นเหตุให้มีอายุน้อยไว้. 

                   พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายและหมู่มหาชนกระทำซึ่งสรีรกิจของพระปัจเจกพุทธเจ้าสุสิมะนั้น  ถือเอาแล้วซึ่งพระธาตุทั้งหลายให้ประดิษฐานไว้ในพระสถูปที่ประตูพระนคร.

                   ครั้งนั้นแล  สังขพราหมณ์คิดว่า  บุตรของเราไปนานแล้ว  และเราก็ไม่ทราบความเป็นไปของบุตรนั้น  ดังนี้.  ต้องการที่จะพบบุตร  จึงออกจากเมืองตักกสิลา  ไปถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ  เห็นหมู่มหาชนประชุมกันอยู่จึงดำริว่า ในบรรดาหมู่ชนเป็นอันมาก  คงจะมีใครสักคนหนึ่งทราบความเป็นไปแห่งบุตรของเราบ้างเป็นแน่  ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปในที่นั้นถามว่า เด็กหนุ่มชื่อว่าสุสิมะมาในที่นี้มีอยู่  พวกท่านทราบความเป็นไปของเขาบ้างแหละหรือ

                  มหาชนตอบว่า  ใช่แล้วพราหมณ์  เราทั้งหลายทราบอยู่ สุสิมะมาณพเป็นผู้จบไตรเพทในสำนักของพราหมณ์ในนครนี้. บวชในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย  แล้วสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ สถูปองค์นี้  มหาชนให้สร้างประดิษฐานไว้เพื่อสุสิมะปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้น.

                  สังขพราหมณ์นั้นใช้มือทุบแผ่นดินร้องไห้คร่ำครวญ  ไปยังลานเจดีย์นั้น ถอนหญ้าทั้งหลายขึ้นแล้ว ใช้ผ้าห่ม (ห่อ) ขนทรายมา แล้วเกลี่ยลงที่ลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ประพรมด้วยน้ำจากคณโฑ  (ลักจั่น) กระทำบูชาด้วยดอกไม้ป่าทั้งหลาย  ใช้ผ้าห่มยกทำเป็นธงปฏากขึ้น  ผูกร่มของตนไว้เบื้องบนสถูป  แล้วหลีกไป.

                  ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำอดีตนิทานมาอย่างนี้แล้วเมื่อทรงสืบต่ออนุสนธิชาดกนั้น  ให้เชื่อมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน จึงตรัสธรรมกถาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายไม่พึงเห็นข้อนั้นอย่างนี้ว่า  คนอื่นจะพึงมีได้แล  สังขพราหมณ์ได้มีแล้วในสมัยนั้นแน่แท้  เราเองได้เป็นสังขพราหมณ์โดยสมัยนั้น  เราได้ถอนหญ้าที่ลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุสิมะ  ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  ชนทั้งหลายได้กระทำหนทางประมาณ  ๘  โยชน์  ให้ปราศจากตอและหนาม  แล้วกระทำพื้นที่ให้เสมอสะอาด เราได้เกลี่ยทรายลงที่ลานพระเจดีย์นั้น  ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  ชนทั้งหลายได้เกลี่ยทรายในหนทางประมาณ  ๘  โยชน์ เราได้ทำการบูชาด้วยดอกไม้ป่าที่พระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยผลที่ไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  ชนทั้งหลายได้ทำการลาดดอกไม้ ด้วยดอกไม้นานาชนิดทั้งบนบกและในน้ำในหนทางประมาณ  ๘  โยชน์  เราได้ทำการประพรมภาคพื้นด้วยน้ำที่ลานพระเจดีย์นั้น  ด้วยน้ำในคณโฑ  ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงในเมืองเวสาลี เราได้ยกธงปฏากและผูกฉัตรไว้ที่เจดีย์ของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมของเรานั้น  มนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้ยกธงปฏากและยกฉัตรซ้อนฉัตรขึ้นจนถึงอกนิษฐภพ 

                  ภิกษุทั้งหลาย  การบูชาพิเศษเพื่อเรานี้  มิได้บังเกิดขึ้นด้วยพุทธานุภาพ มิได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งนาค  เทพ  และพรหม  แต่ได้บังเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคอันมีประมาณน้อย  (ของเรา)  ดังกล่าวมานี้แล.

                  นี้เป็นบุพกรรมอันยิ่งใหญ่ในฝ่ายกุศล

                  คราวหน้าจะเป็นเรื่องราวของบุพกรรมฝ่ายอกุศลขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นคำตอบว่าเพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงต้องใช้ระยะเวลาในการบำเพ็ญเพียรถึง ๖ ปี เพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงถูกกล่าวโทษ ถูกด่าว่า ถูกกล่าวหา หรือแม้กระทั้งทรงปวดศีรษะ

                   ขออนุโมธนาบุญกับผู้ศึกษาพุทธประวัติ

การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

เรื่องทูตของพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นต้น

              พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตรได้ทรงสดับ ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินาราจึงทรงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค

               พวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมือง กุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรได้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคบ้าง แม้พวกเราก็จักได้ทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค

                พวกกษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์ … พระผู้มีพระภาคเป็นพระญาติอันประเสริฐของพวกเรา … พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ … พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ … พวกกษัตริย์โกลิยะ เมืองรามคาม … พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ … พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ … พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นพราหมณ์ … พวกกษัตริย์มัลละเมืองปาวาได้ทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินารา จึงทรงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค

                     เมื่อกษัตริย์และพราหมณ์ว่ามาดังนี้แล้ว พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินาราได้ตรัสตอบหมู่คณะเหล่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราจักไม่ให้ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาค ฯ

เรื่องโทณพราหมณ์

                    เมื่อพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราตรัสอย่างนี้แล้ว โทณพราหมณ์ ได้พูดกะหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำอันเอกของข้าพเจ้าพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย เป็นผู้กล่าวสรรเสริญขันติ การจะสัมประหารกันเพราะ ส่วนพระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้เป็น อุดมบุคคลเช่นนี้ไม่ดีเลย ขอเราทั้งหลายทั้งปวง จงยินยอม พร้อมใจยินดีแบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วนเถิด ขอพระสถูป จงแพร่หลายไปในทิศทั้งหลาย ชนผู้เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุมีอยู่มากฯ

การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

                  หมู่คณะเหล่านั้นตอบว่า ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นขอท่านนั่นแหละจงแบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ให้เรียบร้อยเถิด โทณพราหมณ์รับคำของหมู่คณะเหล่านั้นแล้วแบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาค ออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากันเรียบร้อย จึงกล่าวกะหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงให้ตุมพะ (ทะนานทองที่ใช้ตวงพระธาตุ) นี้แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้า จักกระทำพระสถูป และกระทำการฉลองตุมพะบ้าง ทูตเหล่านั้นได้ให้ตุมพะแก่โทณพราหมณ์ ฯ

                     พวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน ในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราควรจะได้ส่วนพระสรีระ พระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราตอบว่า ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคไม่มี เราได้แบ่งกันเสียแล้ว พวกท่านจงนำพระอังคารไปแต่ที่นี่เถิด พวกทูตนั้น นำพระอังคารไปจากที่นั้นแล้ว ฯ

พระสถูปบรรจุพระบรมสาริกธาตุ ประมาณพระธาตุ

                             ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหีบุตร ได้กระทำ พระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค ในพระนครราชคฤห์ พวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวสาลี พวกกษัตริย์ศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกบิลพัสดุ์ พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองอัลกัปปะ พวกกษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มี พระภาคในเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองเวฏฐทีปกะ พวกเจ้ามัลละเมืองปาวา ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองปาวา พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ก็ได้กระทำพระสถูป และการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาคในเมืองกุสินารา โทณพราหมณ์ ก็ได้กระทำสถูปและการฉลองตุมพะ พวกกษัตริย์โมริยะเมืองปิปผลิวัน ก็ได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระอังคารในเมืองปิปผลิวัน ฯ

                      พระสถูปบรรจุพระสรีระมีแปดแห่ง เป็นเก้าแห่งทั้งสถูปบรรจุตุมพะ เป็นสิบแห่ง ทั้งพระสถูปบรรจุพระอังคาร ด้วยประการฉะนี้ การแจกพระธาตุและ การก่อพระสถูปเช่นนี้ เป็นแบบอย่างมาแล้ว ฯ 

                       พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ แปดทะนาน เจ็ดทะนาน บูชากันอยู่ในชมพูทวีป ส่วนพระสรีระอีกทะนาน หนึ่งของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษที่ประเสริฐอันสูงสุด พวกนาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม พระเขี้ยวองค์หนึ่งเทวดา ชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ใน คันธารบุรี อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีกองค์หนึ่ง พระยานาคบูชากันอยู่ ฯ

สถูปเมืองรามคาม สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ๑ ใน ๘ ส่วนที่พญานาคราชดูแล

                    ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้านั้นแหละ แผ่นดินนี้ ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งแก้วประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ประเสริฐที่สุด พระสรีระของพระพุทธเจ้าผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่าอันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อันจอมมนุษย์ผู้ ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลายจงประนมมือ ถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ

                   พระทนต์ ๔๐ องค์ บริบูรณ์ พระเกศา และ พระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำต่อๆ กันไปในจักรวาล ดังนี้แล ฯ

                   ในที่สุดเรื่องราวในส่วนพุทธประวัติก็มาถึงจุดสิ้นสุด หวังว่าเรื่องราวต่างคงจะเป็นประโยชน์เป็นความรู้บ้าง หากมีคำถามใดๆ หรือคำติชมใด หรือมีเรื่องราวใดที่ต้องการทราบ สามารถใส่ในส่วนของความเห็นไว้ได้ คราวหน้าจะมีเรื่องราวอะไรมาแบ่งปัน โปรดติดตามกันต่อไป

                   ขออนุโมธนาบุญผู้มีบุญมากทุกท่านในการศึกษาพุทธประวัติ

« Older entries